Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

เข้าร่วมประชุม Focus group กับกระทรวงวัฒนธรรม

เข้าร่วมประชุม Focus group กับกระทรวงวัฒนธรรม
June 18, 2016 dhammarong

ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

คำสั่งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสมที่ ๑/๒๕๕๙ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดอำนาจหน้าที่สำคัญของคณะทำงานจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ “ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์”ในการนี้ คณะทำงานฯ จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ดังนี้
๑. พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ดังนี้
๑.๑ มาตรา ๓ กำหนดความหมายของคำว่า “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” หมายความว่า สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรมวัฒนธรรมและความมั่นคง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคีและสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข
๑.๒ มาตรา ๒๑ (๒) กำหนดอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “ออกประกาศกำหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์” โดยให้ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา
๑.๓ มาตรา ๒๑(๑๓) กำหนดอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์”

๒. คู่มือแนวทางการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำคู่มือแนวทางการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม โดยในคู่มือแนวทางดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ดังนี้
๒.๑ จำแนกประเภท“สื่อ” ใน ๓ ลักษณะ คือ
– ลักษณะที่ ๑ จำแนกตามพาหะในการนำสื่อ สื่อที่อยู่ในรูปของข้อมูลที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ กับ สื่อบุคคลที่เป็นการสื่อสารผ่านตัวบุคคล
– ลักษณะที่ ๒ จำแนกตามเทคโนโลยี เป็นสื่อเก่า (สื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รายการวิทยุ) กับสื่อใหม่ (สื่อที่ปรากฏในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อินเทอร์เน็ต เกมคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่)
– ลักษณะที่ ๓ จำแนกขนาดของพื้นที่ในการนำเสนอสื่อ หากมีระดับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเรียกว่า สื่อกระแสรอง หรือ สื่อชุมชน หรือสื่อพื้นบ้าน กับพื้นที่ในการครอบคลุมทั้งประเทศ เรียกว่าสื่อกระแสหลัก
๒.๒ กำหนดนิยามของคำว่า “สื่อที่เป็นภัยและไม่เหมาะสมในทางกฎหมาย” หมายถึง สื่อที่มีเนื้อหาขัดหรือละเมิดกฎหมาย และอาจหมายถึงสื่อที่สร้างปัจจัยเสี่ยงแก่ผู้บริโภคสื่อ โดยนำเสนอค่านิยมและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของไทย รวมถึงสื่อที่มีลักษณะกระตุ้นทางเพศ และส่งเสริมความรุนแรงทั้งทางเพศ ร่างกาย วาจา จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งเนื้อหาหรือลักษณะที่เป็นภัยหรือไม่เหมาะสมอาจแฝงมากับสื่อประเภทต่างๆ

๒.๓ กำหนดลักษณะของ “สื่อที่เป็นภัยและไม่เหมาะสม” ได้แก่
(๑) มีความรุนแรงทั้งเนื้อหา ภาษา ภาพ และเสียงไม่สอดคล้องกับวัยวุฒิของผู้บริโภค ตามการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อนั้นๆ
(๒) มีลักษณะยั่วยุหรือกระตุ้นทางเพศ ลามกอนาจาร ทั้งเนื้อหา ภาษา ภาพ และเสียง
(๓) ช่วงเวลาออกอากาศสำหรับรายการที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ไม่สอดคล้องกับระเบียบหรือเกณฑ์ช่วงเวลาออกอากาศ
(๔) ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
(๕) การนำเสนอที่อาจกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรืออื่นๆ

๓. ศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ
ศูนย์ปฏิบัติการฯ รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสื่อไม่เหมาะสมผ่านหมายเลข ๑๗๖๕สายด่วนวัฒนธรรม โดยระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ มีสถิติรับเรื่องจากประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสื่อไม่เหมาะสมผ่านสายด่วน รวมจำนวน ๓๒ เรื่องแบ่งเป็นข้อเสนอแนะ จำนวน ๓ เรื่อง และเรื่องแจ้งเบาะแส จำนวน ๒๙ เรื่อง ซึ่งมีกรณีน่าสนใจ ดังนี้
– เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๙ผู้แจ้งได้พบเห็นการนำเสนอภาพจากเว็บไซต์ที่มีลักษณะการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดประมาณ ๑.๒ x ๑ เมตร ภายในป้ายระบุชื่อร้าน พร้อมกับรูปผู้หญิงแต่งกายใส่ชุดล่อแหลมนั่งหันไปทิศทางเดียวกับโบสถ์ และป้ายดังกล่าวตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดบุณย์กัญจนาราม ถนนสุขุมวิทฝั่งขาเข้าพัทยา ตรงข้ามโรงเรียนเมืองพัทยา ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินการตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
-เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ มีการแจ้งเบาะแสพบเห็นการนำเสนอของผู้ดำเนินรายการทางสถานีคลื่นวิทยุ 95.5 Virgin HitZที่มีลักษณะการจัดรายการทางวิทยุโดยใช้คำพูดไม่สุภาพ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่ใช้คำผวนที่สื่อความหมายในลักษณะหยาบคาย และไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของบทสนทนา เหตุเกิดเมื่อวันที่๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ เวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. และมีการนำเสนอทางข่าวบนเว็บไซต์ ซึ่งข่าวดังกล่าวถูกวิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กและมีคนวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงการกระทำดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช) เพื่อดำเนินการตรวจสอบการดำเนินรายการของผู้ดำเนินรายการทางวิทยุดังกล่าว
– เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙มีการแจ้งเบาะแสพบการนำเสนอภาพข่าวในโลกออนไลน์ ได้โพสต์ภาพเกี่ยวกับเกมออนไลน์ในเพจBuddhaWatch(หน่วยเฝ้าระวังพระพุทธศาสนา)แสดงความเห็นไม่พอใจกรณีเกมญี่ปุ่น ชื่อเกม NamuamidaButsu! ที่มีลักษณะเกมแฟนตาซีจีบหาคู่ ดัดแปลงตัวละครชายให้เป็นพระสงฆ์ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระศรีศากยมุนี พระไภษัชยคุรุ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทั้งนี้ ได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
– เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ มีการแจ้งเบาะแสพบเห็นการนำเสนอภาพของหญิงสาวที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในคลิปวีดีโอนำเสนอภาพฬฯเฟสบุ๊คชื่อ “THE เฮี้ยน SHOW”(www.facebook.com/TheHeiyn)ซึ่งมีลักษณะการโพสต์รูปภาพและเผยแพร่คลิปวีดีโอ ที่สื่อภาพลามกอนาจารของหญิงสาวภายในเพจดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน และขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของคนไทย ทั้งนี้ ได้แจ้งไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
– ข้อเสนอแนะ เรื่องการสั่งระงับการฉายภาพยนตร์ไทย เรื่อง “อาบัติ” เนื่องจากภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหาภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม มีการนำเสนอภาพสามเณรเสพของมึนเมา ใช้ความรุนแรง คำพูดส่อเชิงชู้สาว ไม่เคารพต่อพระพุทธรูป ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมมีมติห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ”ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการระงับฉายภาพยนตร์ เพราะเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน จึงเป็นการดีที่ทำให้คนในสังคมได้มีการคิดวิเคราะห์ ความผิดชอบชั่วดี อีกทั้งผู้ที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะได้มีความเกรงกลัว และมีความละอายต่อการทำบาปจึงไม่เห็นด้วยกับการสั่งระงับฉายภาพยนตร์เรื่องอาบัติ
– ข้อเสนอแนะ เรื่องการแต่งกายของดารา นักแสดง และนักร้องไทยในปัจจุบันที่ไม่เหมาะสมโดยผู้พบเห็นต้องการให้มีการรณรงค์การแต่งกายให้สุภาพก่อนออกสู่สายตาสาธารณะชน และควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งดารา นักแสดง และนักร้องไทยในขณะนี้มีการแต่งกายที่ออกไปทางล่อแหลม อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศหรือการข่มขืนได้ และหากเด็กและเยาวชนนำไปแต่งกายเลียนแบบตามศิลปินที่ตนชื่นชอบนั้น ก็อาจเกิดปัญหาอาชญากรรมขึ้นในสังคมปัจจุบันได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย จึงต้องการให้เห็นถึงความสำคัญ และส่งเสริมการแต่งกายของเด็กและเยาวชนไทยให้อยู่ในกรอบจารีตประเพณีให้สังคมไทยสามารถคงความเป็นไทยให้ลูกหลานได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันดีงามของชาติต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ

๔. แผนการสืบสวนปราบปรามสื่อไม่เหมาะสม(พ.ศ. ๒๕๕๒)
แผนดังกล่าวกำหนดโดยคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการปราบปรามสื่อที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นในปี ๒๕๕๒ โดยคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติทั้งนี้ ในแผนการสืบสวนฯ ได้จำแนกสื่อที่ไม่เหมาะสม อันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และผิดกฎหมาย จำหน่ายและเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ จำนวน ๗ ประเภท ดังนี้
๑. สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ นิตยสารแฟชั่น นิตยสารบันเทิง หนังสือพิมพ์ ปัจจุบันนิยมเสนอภาพยั่วยุทางกามารมณ์ ใช้ถ้อยคำลามก เป็นเครื่องมือหรือกลยุทธ์ทางการตลาดโดยขาดจริยธรรม
๒. อินเตอร์เน็ต ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น เว็บไซต์ที่ลงข้อความหมิ่นประมาท หรือข้อความเท็จอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสังคมเว็บไซต์เสนอขายบริการทางเพศ และเว็บไซต์เสนอจำหน่ายสินค้าหรือสิ่งผิดกฎหมาย เป็นต้น
๓. สถานีโทรทัศน์ ในปัจจุบันการแพร่ภาพออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ บางรายการได้แพร่ภาพในรูปแบบของภาพยนตร์หรือมิวสิควิดีโอ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาสาระไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน และมักปรากฏภาพในลักษณะโป๊เปลือย ลามก หรือส่อไปในทางมีเพศสัมพันธ์
๔. สถานีวิทยุ ในปัจจุบันการกระจายเสียงวิทยุทางสถานี บางรายการได้ใช้คำพูดที่มีเนื้อหาสาระที่ไม่เหมาะสม เป็นการชักจูงให้เด็ก และเยาวชน เข้าใจผิดเกี่ยวกับ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และศีลธรรม ตลอดจนชักจูงให้มีการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม
๕. เทปวัสดุโทรทัศน์ วีซีดี ดีวีดี วีดีโอ ซีดีรอม แผ่นเกม ในปัจจุบันมีการบันทึกภาพโป๊เปลือย และลามก ออกวางจำหน่ายหรือให้เช่าตามร้านค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก เด็ก เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไปสามารถหาซื้อหรือเช่ามาดูได้โดยง่าย
๖. ภาพยนตร์ที่จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ในปัจจุบัน ทั้งที่ผ่านการตรวจเซ็นเซอร์แล้ว และไม่ผ่านการตรวจเซ็นเซอร์ (โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงหนังชั้น ๒ บางโรง) ปรากฏภาพโป๊เปลือยอย่างชัดเจนในภาพยนตร์บางเรื่อง รวมถึงมีการฉายภาพยนตร์ลามกในโรงภาพยนตร์
๗. เครือข่ายโทรศัพท์ต่างๆ มีการให้บริการเสริมในการให้บริการส่งข้อมูลมัลติมีเดียที่มีลักษณะไม่เหมาะสม และผิดกฎหมาย ในลักษณะการให้ดาวน์โหลดข้อมูลภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหว บางรายมีการให้บริการบอกใบ้ ทายผล แต้มต่อ การแข่งขันกีฬา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการเล่นการพนัน อันเป็นการมอมเมาและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและศีลธรรมอันดีงาม