Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

วิเคราะห์วิกฤตสื่อผ่านมุมมอง “สงกรานต์” ประธานปับลิซีสไทย พร้อมทางรอดในปี 2017

วิเคราะห์วิกฤตสื่อผ่านมุมมอง “สงกรานต์” ประธานปับลิซีสไทย พร้อมทางรอดในปี 2017
January 8, 2017 dhammarong

ในภาวะที่ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีเกิดการชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อการใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธุรกิจต่างๆ ที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของงบฯโฆษณาในสื่อ traditional media ทำให้ในช่วงปีนี้เราเห็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ หลายรายปิดตัวลงไป

กับวิกฤตสื่อที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลกระทบต่องานโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ และจะมีทางรอดในวิกฤตนี้หรือไม่ ผู้ที่จะมาให้คำตอบกับเราคร่ำหวอดอยู่ในวงการโฆษณามามากกว่า 20 ปี ในบริษัทเอเยนซี่ด้านการสื่อสารและมาร์เก็ตติ้งใหญ่ระดับโลก ซึ่งจะมาวิเคราะห์สถานการณ์ และทางออกในวิกฤตด้านสื่อและเศรษฐกิจให้เราฟัง ได้แก่ “สงกรานต์ เศรษฐสมภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปับลิซีส วัน ประเทศไทย

songgran

ช่วงเศรษกิจที่ชะลอตัวนี้ คิดว่าปัจจัยอะไรที่น่ากังวลมากที่สุด

คุณสงกรานต์ ระบุว่า ส่วนตัวคิดว่าปัจจัยภายในไม่ค่อยห่วงเท่าปัจจัยภายนอก เพราะในปีหน้าคิดว่าสำหรับประเทศไทยทุกๆ อย่างก็เริ่มที่จะเข้ารูปเข้ารอยแล้ว นักธุรกิจในประเทศก็เริ่มปรับตัวกันได้พอควร แต่กับการเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะนโยบายของคุณทรัมป์หลายๆ อย่างยังไม่ชัดและค่อนข้างแข็งกร้าว ดังนั้น ก็ยังต้องรอดูอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร แม้กระทั่งก่อนหน้านี้กับ เหตุการณ์ Brexit ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วยุโรป ตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอีกหรือไม่ ดังนั้น คิดว่าปัจจัยภายนอกประเทศน่ากลัวกว่าในประเทศ

กับตัวเลขภาพรวมของงบลงโฆษณาที่ลดลง อะไรที่ยังพอเป็นโอกาสบ้าง

คุณสงกรานต์วิเคราะห์ว่า คิดว่าตัวเลขรีพอร์ทมันมีอะไร ที่ซ่อนอยู่พอสมควร ที่สำคัญคือเราเห็นตัวเลขดิจิทัลโตเยอะมาก คือประมาณ 20% และปีหน้าก็จะโตขึ้นไปอีก ดังนั้น มันมีโอกาสในส่วนนั้นอีกเยอะมาก

“เราจะเห็นคนพูดเรื่องคอนเทนต์ เราจะเห็นคนพูดเรื่องโซเชียล หรือเอนเกจเมนต์ ต่างๆ ผมว่า ณ วันนี้การเติบโตของโฆษณาพีอาร์ที่มันอยู่ในส่วนตรงนี้ มันมหาศาล คือเราไปวัดกันแค่การเสปนด์ของมีเดียเท่านั้นคงไม่ได้ แต่ว่าเนื้อหาจริงๆ มันยังมีช่องทางอยู่ ซึ่งก็คือดิจิทัลนั่นเอง

ปัจจุบันเราแยกไม่ออกแล้วนะ เพราะทุกอย่างมันเบลอไปหมดแล้ว ในภาพรวมของรีพอร์ทมันใช่คือมันตก แต่มันมีส่วนที่มันยังไปได้ต่ออยู่ ซึ่งผมมองว่าเป็นโอกาสที่เราจะทำได้ มันอยู่ที่ว่าคุณมองโลกของการสื่อสารในมิติไหนมากกว่า คือถ้าเรามองแค่ว่าดิจิทัลมันโต 20% แล้วลองเข้าไปดูอีกว่า ในการเติบโตนั้นมันใช้อะไรโต มันไม่ใช่แค่งานครีเอทีฟออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งคอนเทนต์ปัจจุบันใครทำได้ดีที่สุด ในส่วนนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของพีอาร์ ที่จะคอยฟีดคอนเทนต์ต่างๆ เข้าไปในโซเชียลทุกรูปแบบ”

ลูกค้าเราเทงบฯ ไปดิจิทัลใช่หรือไม่

คุณสงกรานต์ กล่าวยอมรับโดยระบุว่า ภาพรวมลูกค้าของเราเทงบฯ ไปที่ดิจิทัลอย่างมากทีเดียว เมื่อดิจิทัลมันเติบโตการเสปนดิ้งโฆษณาก็โตตาม และเมื่อก่อนมีเพียงไม่กี่ธุรกิจที่เข้ามาเล่นตรงนี้ แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีเพิ่มเข้ามาหลากหลายธุรกิจมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนธุรกิจที่เข้ามาดิจิทัลส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ เทเลคอม ที่ใช้สื่อดิจิทัลค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้เราก็ได้เห็นธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นก็เลยทำให้เม็ดเงินตรงส่วนนี้เยอะขึ้นทำให้ตรงนี้โตขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อ โดยเฉพาะ Traditional Media ในฐานะที่อยู่วงการโฆษณาและมีเดียมานานมองสถานการณ์นี้ยังไง

“ก็เป็นเรื่องที่คาดเดากันได้ เมื่อ 3G, 4G มา ทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็วมาก ผมว่าหลายคนจะปรับตัวไม่ทัน ก็เลยทำให้มีอันจะต้องล้มหายตายจากไป แต่ผมว่าสื่อที่เขามองเห็นการเปลี่ยนแปลงเขาก็พัฒนา ไปในเรื่องอื่นๆ ได้ เดี๋ยวนี้แม็กกาซีนหลายๆ เล่ม ไม่ได้ทำแค่แม็กกาซีนที่เราเห็นเขาทำคอนเทนต์ ทำอีเวนท์ ต่างๆ อีกมากมาย มันเลยช่วยกันหมด แล้วแต่ว่าใครจะปรับตัวได้ทัน” ประธาน ปับลิซีส วัน ไทย กล่าว

ทางรอดของมีเดียควรทำอย่างไรในอนาคต

คุณสงกรานต์กล่าวว่า คิดว่าทุกคนเผชิญกับความท้าทายในการปรับเปลี่ยนตัวเอง แล้วก็เรื่องของความเร็วในการปรับเปลี่ยนมีความพร้อมแค่ไหน คนที่มีอยู่คนที่ทำงานอยู่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองได้ขนาดไหน เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงไวมาก

“มันไม่ใช่ทางรอดมันคือการต้องปรับ ปรับไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และบ่อยขึ้นกว่าเดิมที่เคยเป็นมา องค์กรควรจะต้องปรับตัวเสมอและยืดหยุ่นได้เร็ว”

สิ่งนี่เป็นผลดีกับวงการโฆษณาพีอาร์หรือไม่

“ผมว่าระยะยาวจะเป็นผลดีกับวงการของเรานะ คือโลกมันเปลี่ยนไปทางนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ทุกคนจะปรับตัวไปตรงนั้นได้อย่างไร” คุณสงกรานต์ กล่าว

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : MarketingOops.com