ในปี 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีก 1 ปี ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของวงการสื่อ เนื่องจากเป็นปีที่ธุรกิจสื่อได้ปิดตัวลงไปหลายราย บางรายมีการขายกิจการหรือเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนักจนกระทบต่อการซื้อโฆษณา และจากการผลัดเปลี่ยนไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ทำให้สื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์เข้ามาแย่งจำนวนผู้ชมจากสื่ออื่นๆ ไป
โดยสื่อที่ปิดตัวลงไปแล้ว เริ่มที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบด้วย นิตยสาร Candy, นิตยสาร Volume, นิตยสาร Image, นิตยสาร Cosmopolitan, นิตยสารวัยรุ่นหัวนอก Seventeen, นิตยสารสกุลไทย, นิตยสาร Who, นิตยสารวัยรุ่น I Like, นิตยสารภาพยนตร์บันเทิง, นิตยสารพลอยแกมเพชร และ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีในส่วนของ นิตยสาร a day ก็มีการขายหุ้นจำนวน 70% ให้แก่ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) ส่วนสื่อโทรทัศน์ที่ปิดตัวลงในปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีซีทีเอช, กล่องทีวีดาวเทียมจีเอ็มเอ็มแซท และสถานีโทรทัศน์ทีนิวส์
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสื่อที่น่าเห็นใจมากที่สุดเห็นจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากทีวีดิจิทัล เนื่องจากเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา
บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ประกาศทิ้งใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ถือครองอยู่ 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวีและเอ็มวีทีวีแฟมิลี แต่ด้วยกติกาของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แม้ว่าจะทิ้งใบอนุญาตไปแล้ว ก็ยังต้องจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตให้ครบตามจำนวน และจนถึงขณะนี้เรื่องนี้ก็ยังเป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาล ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นก็ไม่กล้าที่จะทิ้งใบอนุญาตแม้จะเข้าสู่สภาวะขาดทุนอย่างหนักก็ตาม
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรวมกลุ่มกันร้องขอความช่วยเหลือจากทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ กสทช. รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลง
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือการที่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี จากกลุ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้ามาซื้อหุ้น บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมมูลค่า 850 ล้านบาท เพื่อเข้ามาถือหุ้นในอัตรา 47.62% และกรณีที่ บริษัท ประนันท์ภรณ์ จํากัด ของ น.ส.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เข้าซื้อหุ้น บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด หรือสถานีโทรทัศน์ช่องวัน จำนวน 50% มูลค่า 1,905 ล้านบาท
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คือ ให้ผู้ประกอบการสามารถขยายการชำระเงินค่าใบอนุญาตในงวดที่เหลืออีก 3 งวด เป็น 6 งวด แต่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา MLR ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งยังให้ กสทช.เป็นผู้ชำระเงินค่าอัพโหลดสัญญาณทีวีดิจิตอลขึ้นดาวเทียม เพื่อออกอากาศทีวีดิจิทัลผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรับภาระรวมกันที่ปีละ 800 ล้านบาท
– ปี”59สื่อออนไลน์โตมากสุด
อย่างไรก็ตามล่าสุด บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ได้รายงานภาพรวมสถานการณ์ของวงการสื่อไทยในปี 2559 โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) ระบุว่า ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมมีมูลค่า 98,314 ล้านบาท ลดลง 12.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยมูลค่าโฆษณาเมื่อแบ่งย่อยเป็นประเภทต่างๆ ประกอบด้วย ทีวีช่องอนาล็อกเดิม 43,035 ล้านบาท ลดลง 18.93%, เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม 3,223 ล้านบาท ลดลง 42.36%, ทีวีดิจิทัล 18,652 ล้านบาท ลดลง 3.93%, วิทยุ 4,766 ล้านบาท ลดลง 7.73%, หนังสือพิมพ์ 8,892 ล้านบาท ลดลง 20.11%, นิตยสาร 2,713 ล้านบาท ลดลง 30.84%, สื่อในโรงภาพยนตร์ 4,914 ล้านบาท เติบโต 8.43%, สื่อนอกบ้าน หรือบิลบอร์ด 5,137 ล้านบาท เติบโต 33.95%, สื่อเคลื่อนที่ 4,768 ล้านบาท เติบโต 16.81%, สื่อ ณ จุดขาย (In Store) 620 ล้านบาท เติบโต 1.14% และสื่ออินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ 1,595 ล้านบาท เติบโต 63.42%
ส่วนสถานการณ์จากนี้ไป นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดีย เอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT ระบุว่า จากความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้การใช้งบโฆษณาชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตามทางสมาคมคาดการณ์ว่าในต้นปี 2560 เศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการผ่อนคลายของสถานการณ์บ้านเมือง จึงคาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น ประมาณ 3-5% โดยสื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักอยู่ถึงแม้ว่างบประมาณการใช้สื่อจะลดลง ซึ่งกลุ่มช่องที่น่าจับตามองได้แก่กลุ่มช่องใหม่ๆ ที่จะสร้างสรรค์และนำเสนอเนื้อหารายการให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายมากกว่ารูปแบบเดิมๆ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นสื่อที่มีการปรับตัวมากที่สุด แม้ว่างบโฆษณาผ่านสื่อนิตยสารจะลดลง หนังสือพิมพ์ประเภท Free Copy กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น Concept Magazine, Advertorial เป็นต้น และบางเล่มก็หันไปใช้การจัดอีเวนต์ด้วย สะท้อนความแข็งแกร่งในด้านการสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นจุดเด่นของตนเอง
– แนะปรับตัวเพื่ออยู่รอด
ในมุมของนักวิชาการอย่าง นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์สื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ในปี 2560 ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ค่อยดีนัก โดยในปี 2560 ที่อาจจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม คือ การที่เอเจนซี่โฆษณาหันไปซื้อโฆษณาลงในสื่อใหม่อย่างสื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่าสื่อทีวีและสื่ออื่นๆ ที่อยากอยู่รอดปลอดภัยได้ท่ามกลางการแข่งขันในยุคต่อไป คือสื่อที่มีการปรับตัวและรู้จักการหาประโยชน์จากช่องทางอื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดยช่องเวิร์คพอยท์ทีวี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสื่อในรูปแบบเดิมๆ ผ่านการใช้โซเชียลมีเดียในการสนับสนุนการรับรู้รายการต่างๆ ให้แก่ประชาชน บางรายการมีการออกอากาศแบบสดผ่านเฟซบุ๊ก ส่งผลให้รายการต่างๆ ของช่องค่อนข้างเป็นที่รู้จักของประชาชน ถึงขนาดรายการ “The Mask Singer” มีเรตติ้งชนะละครของช่องใหญ่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ได้
– ผู้บริโภคยุคใหม่ชอบไลฟ์สด
นอกจากนี้การนำเสนอเนื้อหาที่มีการออกอากาศสด หรือออกอากาศย้อนหลังอย่างรวดเร็วผ่านทางยูทูบ หรือไลน์ทีวี ยังถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดคนดูและความสนใจของผู้ชม อีกทั้งยังสามารถแนบยอดวิวที่มีจำนวนมากเพื่อให้เอเจนซี่พิจารณาในเรื่องเรตติ้ง และความคุ้มค่าในการลงทุนซื้อโฆษณาได้
“ไม่ใช่ว่าทุกสื่อมีการปรับตัวโดยอาศัยสื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์เข้ามาช่วยเหลือแล้วจะประสบความสำเร็จทุกราย แต่การจะประสบความสำเร็จได้ ก็ยังคงต้องยึดโยงใน 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ มีเนื้อหารายการที่ดี, มีรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ดี และมีรูปแบบการบริหารจัดการภายในที่ดี” นายสิขเรศกล่าว
– มาตรา44ต่อลมหายใจทีวีดิจิทัล
ด้านผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า สถานการณ์การของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในปี 2560 คาดว่าจะดีขึ้นในระดับหนึ่ง โดยมาจาก 4 เหตุผลหลักคือ 1.แนวโน้มภาคเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ ในตลาดมีกำลังทรัพย์ในการซื้อโฆษณามากยิ่งขึ้น
2.การเคลื่อนสัดส่วนคนดูจากกลุ่มช่องทีวีอนาล็อกเดิมทั้ง 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่องเอ็นบีที และช่องไทยพีบีเอส ไปยังช่องทีวีดิจิทัลอื่น มีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนรู้จักช่องใหม่มากขึ้น รวมถึงประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งเสาอากาศ หรือวิธีการรับชมทีวีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
3.การที่ กสทช.มีการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิทัลและการให้ประชาชนเพิ่มเติมอีกราว 3 ล้านครัวเรือน สามารถใช้สิทธิการนำบัตรประชาชนไปเป็นส่วนลดซื้อโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้ในตัวหรือแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลมูลค่า 690 บาท แทนการใช้คูปอง
4.การที่ คสช.มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศ คสช. ขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลออกไป ซึ่งการยืดเวลาชำระค่าใบอนุญาตออกไปจะสามารถลดความตึงเครียดทางการเงินของผู้ประกอบการออกไปได้มาก เพราะสามารถนำเงินที่มีอยู่ไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร หรือนำไปพัฒนาเนื้อหารายการให้ดียิ่ง
ขึ้นได้
– เชื่อปี”60ทีวีดิจิทัลแข่งเดือดแย่งคนดู
“สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในปี 2560 แม้มีความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ออกมา แต่ก็ยังถือว่าไม่ดีขึ้น แค่เปลี่ยนสถานะจากค่าใช้จ่ายตึงมือเป็นแค่พอหายใจหายคอได้”
นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกล่าวด้วยว่า ในส่วนภาพรวมการแข่งขันตลาดของทีวีดิจิทัลในแต่ละช่องในปี 2560 จะยังคงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทุกช่องจะมีการทุ่มแบบสุดกำลัง เพื่อแย่งเรตติ้งจากคนดู เนื่องจากมีแนวโน้มแล้วมูลค่ารวมในตลาดโฆษณาจะเพิ่มจากเดิมไม่มากนัก
ถือได้ว่าในปี 2560 นี้จะเป็นอีกปีที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า ทีวีดิจิทัลค่ายไหนจะเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนมือกันอีก และท้ายสุดแล้ว บนสมรภูมิแห่งนี้จะเหลือรอดหรือยืนหยัดกันได้กี่ราย…
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : matichon.co.th