Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

ตอบโจทย์ผู้บริโภค ยุค Data Intelligence

ตอบโจทย์ผู้บริโภค ยุค Data Intelligence
February 19, 2017 dhammarong

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

เป็นอีกปีหนึ่งที่มีความท้าทายของอุตสาหกรรมโฆษณา เมื่อเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตขยายตัวขึ้น บวกกับพฤติกรรมการรับสื่อผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงนักการตลาด เอเยนซี่ ที่ต้องปรับตัว เจ้าของสื่อก็ต้องขยับตัวเองให้เร็วด้วย เพื่อแย่งเม็ดเงินโฆษณาก้อนโตที่ปีนี้หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่าจะไม่เติบโตหวือหวานัก

“สร เกียรติคณารัตน์” กรรมการสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อปีนี้ว่า กำลังเข้าสู่ยุค Data Intelligence ที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น ไม่จำกัดเพศไม่จำกัดอายุ ส่งผลให้การวางแผนกลยุทธ์และการบริโภคสื่อของผู้บริโภคในปีนี้จะเปลี่ยนไป แบ่ง 4 ส่วน ได้แก่ 1.มีการรับข้อมูลที่เกิดการผสมผสานข้ามจอมากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น นักการตลาด ต้องคำนึงว่าจะตอบโจทย์ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างไร 2.การสร้างสรรค์คอนเทนต์ และวิธีการเข้าถึงต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ 3.อินเตอร์เน็ตออฟธิง นั่นหมายถึงสินค้า บริการ จะมีโอกาสจากช่องทางใหม่ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพียงแต่ว่านักการตลาดต้องปรับตัวให้ทัน และหารูปแบบให้เจอ

สุดท้าย การสร้างช่องทางจัดจำหน่ายต้องมีการผสมผสาน ทั้ง ออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

ยกตัวอย่างธุรกิจรีเทล ที่วันนี้อาจจะไม่หยุดแค่อีคอมเมิร์ซแต่ต้องมีการผสมผสานช่องทางขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้ไปด้วยกัน

screenshot-www.prachachat.net 2017-02-19 21-00-34

“ไตรลุจน์ นวะมะรัตน” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าเริ่มกลับมาใช้งบฯโฆษณาบ้างแล้ว หลังจากชะลอการใช้งบฯลงเมื่อปลายปีก่อน สินค้าที่เริ่มกลับมาใช้งบฯโฆษณาแล้ว ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การเงิน ประกันภัย และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้เงินในทุกสื่อ

ขณะที่สินค้าที่เจาะกลุ่มนิชมาร์เก็ต ก็ยังมีโฆษณาต่อเนื่อง นอกจากนี้สินค้าหรู ที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับ A หรือ B+ ก็เริ่มกลับมาใช้เงินโฆษณา

ทั้งนี้คาดการณ์การใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อปีนี้จะโต 10% จากปีก่อน หรือ มีมูลค่าประมาณ 133,666 ล้านบาท เท่ากับปี 2558 แบ่งเป็น สื่อทีวี (ช่องเก่า) 52,000 ล้าน โต 10% จากปี 2559 ทีวีดิจิทัล 27,000 ล้าน โต 32% เคเบิล ทีวีดาวเทียม 3,000 ล้าน ลดลง 13%

ตามด้วยวิทยุ 6,000 ล้าน ไม่เติบโตหนังสือพิมพ์ 11,000 ล้าน ลดลง 22% แมกาซีน 2,566 ล้าน ลดลง 20% สื่อในโรงภาพยนตร์ 5,900 ล้าน โต 8% สื่อนอกบ้าน 6,200 ล้าน โต 9% สื่อเคลื่อนที่ 5,800 ล้าน โต 9% สื่อ ณ จุดขาย 2,200 ล้าน โต 10% และสื่อดิจิทัล 12,000 ล้าน โต 31% โดยสื่อหลักที่ผลักดันให้อุตฯโต คือ สื่อนอกบ้าน สื่อดิจิทัล และทีวี จากการปรับขึ้นโฆษณาเฉลี่ย 8% จากปีก่อน

เช่นเดียวกับ “รัฐกร สืบสุข” เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย คาดว่า ภาพรวมโฆษณาปีนี้จะโต 10% จากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 110,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ “รัฐกร” ยังกล่าวถึงการวัดเรตติ้งทีวีของไทยก็กำลังก้าวสู่การวัดแบบ 2 ระบบ คือ รายเดิม นีลเส็น และรายใหม่ จากการวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีนของสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ ที่คาดว่าจะเสร็จไตรมาส 4 ปีนี้ ในแง่เอเยนซี่เบื้องต้นจะใช้ข้อมูลจากทั้ง 2 ระบบ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง

ในแง่พฤติกรรมคนดูทีวีขณะนี้ เปลี่ยนไป คนไม่ได้ดูทีวีจากจอทีวีอีกแล้ว แต่ดูจากสื่อดิจิทัล โดยเลือกเฉพาะคอนเทนต์ที่สนใจเท่านั้น ดังนั้น คนดูคอนเทนต์จากทีวีแบ่ง 2 กลุ่ม คือ คนดูสดจากจอทีวี 30-40% ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมของคนอเมริกา อีก 60-70% จะดูย้อนหลังโดยไม่สนใจว่าดูผ่านแพลตฟอร์มไหน โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น ช่องทีวีเองต้องปรับตัวว่า จะสร้างรายได้จากคนที่ดูรายการย้อนหลังได้อย่างไร เช่น ช่อง 7 ทำแอปพลิเคชั่น บักกาบูทีวี ที่รวมคอนเทนต์ไว้ที่เดียว เป็นต้น ถือเป็นอีกโมเดลการสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์

เมื่อเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนทุกอย่าง นักการตลาด เจ้าของสื่อ และเอเยนซี่ ก็ต้องผสมผสานทุกอย่างเข้าด้วยกันให้ได้ส่วนผสมที่ลงตัวและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : prachachat.net