กสทช.ขีดเส้นไม่เกิน 5 เดือน คลอดรูปแบบกำกับบริการ OTT ที่เหมาะสม ชี้แพร่ภาพและเสียงสร้างผลกระทบต่อสังคมทำหน้าที่เหมือนสื่อมวลชนต้องกำกับ กรุ๊ปไลน์ส่วนตัวไม่เข้าข่าย ย้ำเน้นดูแลคอนเทนต์มากกว่าหาช่องโกยรายได้เข้ารัฐ เอเยนซี่โฆษณาหวั่นเพิ่มต้นทุน กังขาจะกำกับได้จริงหรือไม่
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top (OTT) เปิดเผยว่า การให้บริการ OTT เริ่มเป็นบริการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและอุตสาหกรรม บอร์ด กสทช.จึงมีมติให้ OTT เป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีคณะอนุกรรมการฯเป็นผู้ขับเคลื่อนการกำกับดูแล
อีก 5 เดือนกติกากำกับดูแลชัด
กรอบเวลาการทำงานที่วางไว้คือ ในเดือนพ.ค. 2560 นี้จะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ก่อนจะมีความชัดเจนทั้งหมดภายใน 4-5 เดือน ว่ารูปแบบการกำกับที่เหมาะสมกับประเทศไทยจะมีแบบใดบ้าง
“ขอเวลาให้อนุกรรมการศึกษาและทำงานก่อน ขณะนี้ยังไม่ตกผลึกในองค์รวม ยังบอกไม่ได้ว่ารูปแบบการกำกับดูแลจะใช้กลไกใด จะต้องมาขึ้นทะเบียนหรือขอรับใบอนุญาต และยังไม่ได้แบ่งประเภท OTT ว่าจะครอบคลุมถึงแค่ไหน แต่หลัก ๆ คือจะไม่ยุ่งกับการสื่อสารส่วนบุคคล จะคุยไลน์กรุ๊ปกันเป็น 100-200 คน เป็นสิทธิ์ของคุณ แต่ถ้าขยับไปคุยกับคนเป็นล้าน ๆ ทำหน้าที่เป็นเสมือนสื่อมวลชน ที่แพร่ภาพและเสียงไปสู่ประชาชนทั่วไป จะไม่ใช่สิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารอีกต่อไป”
แต่มั่นใจว่า ผลจากการกำกับดูแลจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ดีขึ้นทั้งในส่วนของผลกระทบกับสังคมและภาคอุตสาหกรรมเอง
หาวิธีลบคอนเทนต์ปัญหาให้เร็ว
หลักสำคัญในการกำกับดูแล ณ เวลานี้ที่วางไว้คือ จะทำให้อย่างไรให้คอนเทนต์ที่มีปัญหาหยุดส่งผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว
“ผมเห็นด้วยกับ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ว่าเราไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนได้ แต่ทำอย่างไรเมื่อเกิดคอนเทนต์มีปัญหาจะทำให้ปัญหาหมดไปอย่างรวดเร็ว”
ใช้โมเดลต้นแบบต่างประเทศ
หลายประเทศได้มีกลไกกำกับดูแลแล้วสหราชอาณาจักร Ofcom ที่ทำหน้าที่เหมือนกสทช. ได้กำกับดูแลเรื่องใบอนุญาต กำกับเนื้อหาและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยร่วมมือกับ ASA (Advertising Standard Authority) ที่กำกับดูแลเรื่องโฆษณาในบริการ OTT โดยผู้ให้บริการต้องแจ้งกับ Ofcom ก่อนเริ่มให้บริการ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านเนื้อหา ส่วนในเกาหลีใต้ Korea communications commission (KCC) ที่มีเหมือน กสทช.ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำกับดูแล OTT ภายใต้กฎหมายInternet Multimedia Broadcasting Business Act กำหนดให้ผู้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และต้องถูกกำกับเนื้อหาเช่นเดียวกับคอนเทนต์บนสื่ออื่น ๆ
แต่ไม่มีโมเดลประเทศใดสามารถยกมาใช้กับอีกประเทศได้ทั้งหมด ไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม
ไม่ได้มุ่งหาช่องดึงรายได้เข้ารัฐ
ภารกิจหลักไม่ได้เน้นที่การหารายได้เข้ารัฐ เพราะมองว่าบริการประเภทนี้ทำประโยชน์ให้ประชาชนในการเข้าถึงความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งประโยชน์มหาศาลกว่ารายได้ที่เข้ารัฐ แต่สิ่งที่สำคัญคือความเป็นธรรมในอุตสาหกรรม การแข่งขันที่เสรีอย่างเป็นธรรมตามคอนเซ็ปต์กฎหมายไทย
“ไม่ได้ถือว่าสกัดกั้นโซเชียลมีเดีย ทุกคนยังใช้งานได้เหมือนเดิม เชื่อว่ากฎหมายในมือ กสทช.มีเพียงพอจะดำเนินการได้ และเอื้อมไปถึงผู้ประกอบการในต่างประเทศแน่นอน ถ้าไม่เพียงพอค่อยหาทางอีกที”
วงการโฆษณาจับตา
ด้านนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า ในวงการเอเยนซี่โฆษณา ขณะนี้พูดถึงประเด็นที่ กสทช. จะเข้ากำกับดูแล OTT กันมาก แต่เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่ารูปแบบการกำกับดูแลจะใช้กลไกใดและครอบคลุมไปถึงแค่ไหน จึงยังไม่สามารถวิเคราะห์ผลกระทบได้ แต่ทุกคนจับตาใกล้ชิด เพราะ OTT เจ้าใหญ่อย่างยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นช่องทางที่งบโฆษณากำลังไหลไปลงจำนวนมาก ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินไปสู่ OTT กว่า 5,000 ล้านบาท และแต่ละปีมีการเติบโตสูงมาก
“มีการประเมินว่า หากการกำกับดูแลทำให้ต้นทุนของ OTT รายใหญ่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ต้องมีการขอรับใบอนุญาตและจ่ายค่าธรรมเนียม OTT ก็จะผลักภาระมาให้ผู้บริโภคผ่านเอเยนซี่โฆษณา อาทิ ขึ้นค่าโฆษณาให้สูงขึ้น ตรงนี้หากต้นทุนโฆษณาเพิ่มขึ้นมาก ผู้ประกอบการก็จะโยกไปใช้ช่องทางโฆษณาอื่นที่ถูกลง อาจทำให้คอนเทนต์โพรไวเดอร์ของไทยได้ประโยชน์มากขึ้น แต่เชื่อว่าหาก OTT เจ้าใหญ่ยังคงเป็นโซเชียลมีเดียที่ผู้บริโภคเลือกใช้เป็นจำนวนมาก ต่อให้ขึ้นค่าโฆษณา เอเยนซี่ก็ยังต้องเลือกใช้งบกับ OTT ที่ทรงอิทธิพลอยู่ดี”
ประเด็นที่หลายฝ่ายในวงการตั้งข้อสังเกตคือ กลไกการกำกับดูแล OTT โดยเฉพาะที่เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่จากต่างประเทศ จะเกิดการบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการสกัดกั้นการเข้าถึงบริการของ OTT รายใหญ่ที่มีผู้ใช้งานเยอะ ไม่ใช่เรื่องง่าย และกระทบกับประชาชนในวงกว้าง
หวั่นออกกฎแต่บังคับไม่ได้
ขณะที่นายกล้า ตั้งสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โธธ โซเชียล จำกัด ผู้ให้บริการข้อมูลโซเชียลมีเดียครบวงจร เปิดเผยว่า การกำกับดูแลสื่อและการประกอบกิจการเป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่แนวคิดจะกำกับ OTT จะบังคับใช้ได้จริงแค่ไหน เพราะ OTT ในส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคลด้วย เนื่องจากการหลอมรวมของสื่อในปัจจุบัน ที่ทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตสื่อได้ด้วย เมื่อจะขีดเส้นกำกับจึงต้องทบทวนว่า จะกำกับแพลตฟอร์ม หรือคนใช้แพลตฟอร์ม จะลงไปกำกับดูแลแค่ไหน และข้ามเส้นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของคนหรือไม่
ขณะที่การจะเข้าไปกำกับตรงที่เจ้าของแพลตฟอร์ม OTT รายใหญ่จากต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัทในไทยไม่ได้มีบทบาทใด ๆ นโยบายทั้งหมดถูกส่งตรงมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ หากออกกฎแล้วแต่บังคับใช้ไม่ได้ก็จะกระทบความเชื่อมั่นภาครัฐ
สกัดกั้นแต่ต้นทาง
และนอกจากนโยบายในการกำกับ OTT แล้ว เมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง การผลิต นำเข้า จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายหรือรับติดตั้งกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) บังคับให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือจำหน่ายอุปกรณ์กล่องรับสัญญาณ IPTV หรือ OTT อาทิ แอนดรอย บ็อกซ์ โครมแคสต์ ต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช.หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2 ล้านบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่า 100 ราย และมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างกัน กระทบต่อผู้บริโภค กสทช.จึงจำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนเข้ามาขอรับใบอนุญาต ให้ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย โดยต้องยื่นขอรับใบอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่ 25 เม.ย. 2560 เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว จะส่งเจ้าหน้าที่ กสทช.ลงตรวจสอบทั่วประเทศ
ด้านแหล่งข่าวผู้ให้บริการ IPTV เปิดเผยว่า ประกาศ กสทช. เรื่องอินเทอร์เน็ตบ็อกซ์ เป็นการเข้ามากำกับดูแลทีวีบนอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ต้นทาง แต่ปัญหาคือตลาดกล่องอุปกรณ์สำหรับดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ไต้หวัน มีหลายสิบรายไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ถูกต้อง วางขายตามห้างไอที กลุ่มนี้จะถูกกำกับดูแลจริงจังด้วยหรือไม่ มิฉะนั้นจะเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการที่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น
เปิดผลวิจัย OTT
สำหรับผลการวิจัยเรื่องการกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์แบบ OTT ที่ กสทช.ว่าจ้างบริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ศึกษา และนำเสนอให้คณะอนุกรรมการOTT พิจารณาในการประชุมครั้งแรกนั้น กิจการ OTT จะครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการแบบฟรีทูแอร์อย่างยูทูป คอนเทนต์ออนดีมานต์ อาทิ Netflix รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการบรอดแคสต์อย่างไลน์ทีวี เฟซบุ๊กไลฟ์
ทั้งระบุว่า ปี 2559 รายได้ของผู้ให้บริการ OTT กลุ่มที่มีรายได้จากโฆษณา ยูทูบมีรายได้ 1,663 ล้านบาท เฟซบุ๊ก 2,842 ล้าน ส่วนรายอื่น อาทิ LINE TV มีรายได้รวมกัน 502 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดรวม 5,007 ล้านบาท
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล: prachachat.net