สัมภาษณ์พิเศษ
หลังบ่มประสบการณ์มานาน ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง เพื่อพิสูจน์ศักยภาพให้เจ้าพ่อรถไฟฟ้ายอมรับ
ในที่สุด “กวิน กาญจนพาสน์” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “มังกรคีรี” วัย 42 ปี ได้เวลาสานต่อธุรกิจอย่างเต็มตัว ในฐานะซีอีโอ “บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ขับเคลื่อนธุรกิจทุกโหมดทั้งรถไฟฟ้า โฆษณา และอสังหาริมทรัพย์
ถึงขณะนี้เป็นปีที่ 3 นับจาก เม.ย. 2558 นับเป็น 3 ปีที่ “ซีอีโอคนรุ่นใหม่” เริ่มสนุกกับการทำงาน
กวิน กาญจนพาสน์
“เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2541 รถไฟฟ้ากำลังจะสร้างเสร็จ กลับจากเรียนที่อังกฤษ ปีแรกจะไปช่วยธุรกิจที่ฮ่องกงก่อน แต่ป๊า (คีรี) บอกที่เมืองไทยใหญ่กว่าเยอะ เลยเปิดบริษัทวีจีไอ ทำเกี่ยวกับสื่อโฆษณา ผมเป็นพนักงานคนที่ 2 คนแรกเป็นเพื่อนของป๊า หลัง ๆ ขายให้บีทีเอส” กวินเปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ”
ปี 2553 หลังเจ้าพ่อบีทีเอสนำ “ธนายง” เข้าซื้อหุ้น “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” สัดส่วน 94.60% พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์” และปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่รวบไว้ภายใต้ชายคาเดียวกัน คุม 4 ขาธุรกิจ “รถไฟฟ้า-สื่อโฆษณา-อสังหาฯ-บริการ” พ่วงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท มาเป็นเครื่องมือระดมทุนสร้างรถไฟฟ้าให้ลื่นไหล
ทำให้เวลานี้อาณาจักรบีทีเอสใต้ปีก “ตระกูลกาญจนพาสน์” ใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว ยังไม่นับบริษัทย่อยที่แตกแขนงมาซัพพอร์ตธุรกิจหลักอีกนับไม่ถ้วน จนมีพนักงานถึง 1 หมื่นชีวิตที่ต้องดูแล
“นอกจากธุรกิจรถไฟฟ้าที่เหลือผมดูหมด ป๊ายังช่วยดูมุมมองบริหารบริษัท และรถไฟฟ้ากับคุณสุรพงษ์เป็นซีอีโอบีทีเอสซี เพราะพ่อทุ่มเทกับรถไฟฟ้านับ 10 ปี กว่าจะเติบโตทุกวันนี้ ตอนนี้งานหนักขึ้น กำลังจะเซ็นสัญญาสายสีชมพูกับสีเหลือง เราร่วมกับซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งส์ ลงทุนทั้งโครงการ 1 แสนล้านบาท”
“ผมกับป๊าไม่เคยลงทุนข้างนอก ทุกอย่างลงทุนผ่านบีทีเอส เพราะไม่อยากให้ผู้ถือหุ้นคิดว่า ของดีทำเอง ของไม่ดีให้บริษัท ยังไรก็ตามเราก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปด้วยกัน”
ถามว่า ผลประกอบการธุรกิจไหนดีที่สุด ? ทายาทเจ้าพ่อรถไฟฟ้าย้ำเสียงหนักแน่น “แน่นอนยังเป็นรถไฟฟ้าประมาณ 40% หรือปีละ 6-7 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจโฆษณา 30-40% ของรายได้ทั้งกลุ่ม 1 หมื่นล้านบาท รายได้ของวีจีไอโตขึ้นเท่าตัวจาก 2 พันล้านเป็น 4 พันล้าน”
“มาร์เก็ตแคปวีจีไอกว่า 3 หมื่นล้าน ใหญ่มาก มีสื่อครบทั้งดิจิทัล บิลบอร์ด ในรถไฟฟ้า สนามบิน ห้าง สมัยก่อนขายโฆษณาบีทีเอสอย่างเดียว 23 สถานี พื้นที่ 1 หมื่น ตร.ม. ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป เราเปิดเป็นห้างให้เอเยนซี่ช็อปปิ้ง มีทั้งโฆษณารถไฟฟ้า ออฟฟิศ มาร์โค แอลอีดี เหมือนเป็นบิ๊กดาต้าให้คนช็อป”
ตอนนี้เริ่มได้ 3 เดือนแล้ว อย่างโฆษณา 11 street จะเหมือนอาลีบาบา เข้ามาไทย 2 เดือนที่แล้วใช้สื่อของเรา เราซื้อเฟซบุ๊กมาแพ็กให้ หาเราเจ้าเดียวได้ทั้งหมด หลังโฆษณาออก 1 เดือน ได้รายได้ 10 เท่า แค่เจ้าเดียวปีหนึ่งมีรายได้ 120 ล้านบาท
“ค่าโฆษณาแพงสุด คือ ออฟฟิศบิวดิ้ง มี 180 ตึก โบกี้รถไฟฟ้ายังแพง เพราะมีแอลซีดี แต่ไม่แพงเท่าสมัยก่อนที่มี 20 ขบวน ตอนนี้ 40-50 ขบวน ค่าโฆษณารถไฟฟ้า 1 ขบวน อยู่ที่ 2-3 แสนบาทต่อขบวนต่อเดือน ลูกค้ารายใหญ่ P&G ซึ่งเราขายเป็นแพ็กเกจต้องซื้อทุกสถานี เหมือนสั่งข้าวผัดเอาแต่ข้าวกับไข่ไม่ได้”
ส่วนธุรกิจอสังหาฯหลัก ๆ ของบีทีเอสมีโครงการธนาซิตี้ บางนา-ตราด เหลืออีก 300 ไร่ กำลังพัฒนาเป็นอพาร์ตเมนต์และโรงเรียนนานาชาติร่วมกับพันธมิตรฮ่องกง
ขณะเดียวกันผนึกพันธมิตรเปิดเกมรุกบุกอสังหาฯเพื่อเช่าและเพื่อขายให้ธุรกิจโตเร็วขึ้นซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีขณะนี้สัดส่วนรายได้เติบโตจาก7-8% เป็น 15%
บีทีเอสกรุ๊ปดำเนินธุรกิจไม่ซับซ้อน ใครเก่งให้เขาทำ ถ้าเราทำเอง ใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะโต ถ้าร่วมกับพันธมิตร ทำให้เราโตเร็วขึ้น เพราะแบรนด์เขาแกร่งอยู่แล้ว อย่างแสนสิริที่เป็นผู้นำด้านอสังหาฯอยู่แล้ว ดีลนี้เราชอบมาก
“ร่วมกับแสนสิริพัฒนาคอนโดฯแนวรถไฟฟ้ารัศมี 500 เมตรจากสถานี 5 ปี 25 โครงการ มูลค่า 1 แสนล้านบาท เราหาที่ลงทุน 30% เตรียมที่ไว้หมดแล้ว แสนสิริจะออกแบบพัฒนาเพราะแบรนด์แสนสิริ ผมชอบมาก เร็ว ทันสมัย ตอนนี้ร่วมกัน 8-9 โครงการกว่า 3 หมื่นล้าน เริ่มทยอยรับรู้รายได้แล้ว คอนโดฯขายง่ายขึ้นหลังร่วมแสนสิริ ตอนนี้ก็ 3 ปีแล้ว เร็วมาก เราวางเป้าไว้ 5 ปี แต่ถ้าแฮปปี้ก็ร่วมกันต่อ”
จากผลตอบรับ ทำให้ “กวิน” เริ่มสนุกกับธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมตั้งแต่ปี 2511 ที่ “คีรี” ปลุกปั้นมากับมือ และพยายามให้ทายาทคนเดียวของเขารับไม้ต่อ นับจากก้าวแรกเข้ามาช่วยงาน
“ผมไม่ชอบอสังหาฯตั้งแต่วันแรก อาจจะเกิดที่ฮ่องกง รู้สึกฮ่องกง ที่มันเล็กไปทำที่ไหน ขายได้ไม่ได้ เก็บไว้ 10 ปียังกำไร แต่เมืองไทยไม่เหมือนกัน คู่แข่งเยอะ ฮ่องกงแค่ 3-4 เจ้า แต่ที่นี่ ทุกคนมีที่อากงให้มาสร้างเอง ขายเอง แต่คอนโดฯที่นี่ วันนี้ขายไม่ค่อยมีกำไร ผ่านไป 20-30 ปี ก็เก่าแล้ว ที่ฮ่องกง 40-50 ปียังสวย”
ผู้อยู่เบื้องหลังทำให้ “กวิน” เริ่มเปลี่ยนใจ คือ บิ๊กบอสแสนสิริ “เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน”
“งานของผมไม่ค่อยยาก อะไรยากให้คุณเศรษฐาทำ (หัวเราะ) หลังร่วมงานกับแสนสิริ ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากคุณเศรษฐา ผมชอบมาก พูดตรง พูดแล้ว ทำเลย มีปัญหาช่วยกันแก้ บีทีเอสและแสนสิริอยู่ได้เพราะอย่างนี้ ทั้งที่ปีหนึ่งเจอกันไม่กี่ครั้ง”
ส่วน “บมจ.ยูซิตี้” ที่แปลงร่างมาจาก “แนเชอรัลพาร์ค” เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่ “บีทีเอส” นำมาเป็นตัวช่วยลุยธุรกิจอสังหาเพื่อเช่าทั้งโรงแรมและสำนักงาน หลังเข้าไปซื้อหุ้นกว่า 35.64%
“ลงทุน 30-40% ร่วมกับยูซิตี้พัฒนาที่ติดบีทีเอสพญาไท 7 ไร่ เป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 6 พันล้านบาท มีโรงแรมอิสติน และออฟฟิศอีก 1-2 เดือนจะเริ่มสร้างและพัฒนาที่ดินหมอชิตอีก 10 ไร่ติดโครงการเดอะไลน์เป็นโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 6 พันล้าน จะเริ่มได้ปีนี้”
ที่ดินตรงหมอชิต “กวิน” บอกว่า จะเป็นอาณาจักรแห่งใหม่ของบีทีเอส นอกจากโรงแรมอิสติน ในส่วนสำนักงานให้เช่าสูง 40-50 ชั้น ยังกันพื้นที่บางส่วนเป็นบ้านหลังใหม่ของบีทีเอส จะมีสกายวอล์กเชื่อมบีทีเอสหมอชิตถึงทหารไทย
ไม่ใช่แค่ “แสนสิริ-ยูซิตี้” ยังมี “จีแลนด์-บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์” ที่ “กวิน” เล่าว่า กำลังจะมีโปรเจ็กต์ร่วมกันนำที่ 48 ไร่ซื้อจากกรมบังคับคดี 7,350 ล้านบาท ที่ตั้งโครงการบางกอกโดมเดิม เยื่องแดนเนรมิต พัฒนาเป็นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท มีโรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย รับรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย (หมอชิต-คูคต)
รวมถึงจะฟื้นตึกร้างซื้อจากแนเชอรัลพาร์ค หลังเทสโก้ โลตัส พหลโยธิน เยื้อง ๆ กับเซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมกับแสนสิริพัฒนาโครงการเดอะไลน์ พหลโยธิน พาร์ค มูลค่า 3,500 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่ธุรกิจในบ้าน “ทายาทบีทีเอส” ยังเกาะติดสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศ
“เรามีธุรกิจหลายอย่าง มีรถไฟฟ้า โฆษณา เป็นบริษัทอยู่ข้างหน้า เศรษฐกิจดีไม่ดีรู้ก่อน ทำโฆษณา เมื่อไหร่มีปัญหา เรารู้สึก ปีที่แล้วก็แน่นอนไม่ค่อยดี 3 เดือน ตอนนี้กำลังฟื้น ปีนี้ไตรมาสแรกดีกว่าปลายปีที่แล้ว มองว่าปีนี้ยังดีเพราะการเมืองยังดีอยู่ เมืองไทยแปลก ฝรั่งมาลงทุน ไทยลงทุนเองไม่พอ ต้องมีต่างประเทศช่วย ถ้าไม่ช่วยตลาดหุ้นไม่มีอย่างนี้ เวลาพูดถึงตลาดหุ้น อสังหาฯมันก็ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ รัฐต้องชวนต่างประเทศมาลงทุน จะช่วยได้มาก แต่การเมืองต้องนิ่ง เพราะนักธุรกิจเขาลงทุนอยู่แล้ว”
สำหรับบีทีเอสต้องมาดูภายในองค์กร หลัง 5-10 ปีที่ผ่านมาขยายธุรกิจเร็วและมากเกินไป มีรถไฟฟ้า กองทุนอินฟราฟันด์ วีจีไอ ซื้อธุรกิจอีกหลายแห่งมาต่อยอดรถไฟฟ้า ตอนนี้เราไม่ได้รวยที่สุดแต่งานเรามากที่สุด
ถ้าป๊าเป็นคนที่ไม่แรงขนาดนี้ จะไม่มีใครสร้างบีทีเอสจนเติบโตมาเกือบ 20 ปี
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : prachachat.net