ทายาทธุรกิจหมื่นล้านของ ช.การช่าง ลูกชายคนสุดท้องของ ของ “ปลิว-สายเกษม ตรีวิศวเวทย์” ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือบีเอ็มเอ็น บริษัทในกลุ่มช.การช่าง ผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่โฆษณารถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที “โจ้-ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์” เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บีเอ็มเอ็น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังจากที่ทำหน้าที่ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ช.การช่างมาแล้วระยะหนึ่ง
“คุณโจ้” บอกว่า งานที่ ช.การช่าง ก็ยังรับผิดชอบอยู่ ทำในหลายส่วนทั้งงานเลขานุการบริษัท งานนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) งานประชาสัมพันธ์ และงาน CSR (Corporate Social Responsibility) แต่เมื่อมารับหน้าที่เป็นผู้นำทัพให้กับบีเอ็มเอ็น เวลาประมาณ 70% ก็ต้องแบ่งมาให้ที่นี่ เพราะเป็นที่ธุรกิจที่บริหารและรับผิดชอบตัดสินใจเองเต็มตัว และยังเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการศึกษางานพอสมควร
“การที่คุณพ่อเลือกให้เรามาลงตรงนี้ เพราะเขาอยากฝึกให้เราทำงานที่มันท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม มันก็ท้าทายจริงๆ เพราะเป็นเอ็มดี ต้องตัดสินใจเอง ต้องรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่เลือกที่จะทำเอง แต่มันก็เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผม เป็นธุรกิจที่มีสีสันมากกว่างานก่อสร้าง มันเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น สื่อโฆษณา พื้นที่ร้านค้า มันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ใช้เอ็มอาร์ที ผมก็คิดว่ามันน่าจะเหมาะกับบุคลิกของผม”
ที่ “คุณโจ้” บอกว่าเหมาะ ไม่ใช่แค่คิดไปเอง แต่ด้วยความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาทั้งด้านวิชวล อาร์ต ซึ่งเกิดจากความชอบ และวิศวกรรมไฟฟ้า ที่พ่อแนะนำให้เรียน ต่อด้วยปริญญาโทด้านการเงิน และประสบการณ์ทำงานด้านไฟแนนซ์ต่อที่นิวยอร์กอีก 6 ปี และยังทำงานด้านประชาสัมพันธ์ นักลงทุนสัมพันธ์ที่ ช.การช่าง เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อมุมมองในการทำธุรกิจด้านสื่อโฆษณา
เอ็มดีบีเอ็มเอ็น ยอมรับว่า การบริหารธุรกิจสื่อในช่วงนี้อาจจะลำบาก เพราะเม็ดเงินโฆษณาลด แถมยังมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายการใช้สื่อโฆษณาเป็นว่าเล่น แต่…สื่อทรานซิส ที่เขารับผิดชอบอยู่ มีความมั่นคงอยู่พอสมควร เพราะเป็นสื่อในช่องทางที่ทุกคนต้องใช้ คนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีเพิ่มขึ้น เส้นทางของรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีก็ยังมีส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงว่าจำนวนผู้โดยสาร (ridership) และจำนวน Eyeball ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 8 แสนคนในปี 2563
เพราะฉะนั้น สิ่งที่บีเอ็มเอ็นต้องทำ คือ การเพิ่มความหลากหลายของสื่อ การนำนวัตกรรมสื่อมาสร้างให้เกิดอิมแพ็คกับงานโฆษณาของลูกค้าให้มากที่สุด นั่นคือ สิ่งที่ผู้บริหารคนนี้เตรียมความพร้อมและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปเรื่อยๆ ด้วยการไปศึกษาดูงานรถไฟฟ้าใต้ดินจากประเทศอื่นๆ ทั้งจากประสบการณ์ที่เคยใช้และชอบเดินทางกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่อังกฤษ ญี่ปุ่น และยังสนใจจะเดินทางไปดูงานที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องของสื่อในรถไฟฟ้าใต้ดิน
ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์
อีกหนึ่งสิ่งที่ “คุณโจ้” เร่งทำอยู่ และคิดว่าเป็นความจำเป็นคือ การสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นนี้ ทำให้คนรู้จักว่า บีเอ็มเอ็น คือ บริษัทผู้ดูแลบริหารสื่อและพื้นที่ค้าปลีก ในเอ็มอาร์ที
“คุณโจ้” บอกว่า การได้มานั่งบริหารตรงนี้ สนุก มีสีสัน และตรงกับสิ่งที่เขาชอบ ได้นำประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมาปรับใช้ นำรูปแบบ grab and go เข้ามาใส่ เขาได้จับมือกับพาร์ทเนอร์แบรนด์สินค้าที่คนเมืองชื่นชอบ เข้ามาเติมในพื้นที่ค้าปลีก พร้อมปรับโฉมให้เป็นพื้นที่ที่ทันสมัย มีห้องน้ำสะอาดไว้คอยบริการ การนำนวัตกรรมด้านสื่อเข้ามาใช้ ก็สามารถหยิบใส่เข้ามาได้เรื่อยๆ แต่ทั้งหมดต้องรอให้มีลูกค้าพร้อมใช้เสียก่อน และต้องเหมาะกับพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการด้วย มิฉะนั้น การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลก็อาจจะไม่คุ้ม
“เราต้องหาจุดเด่นจุดต่างตัวเองให้ได้ และต้องเป็น first mover พื้นที่เราเป็นพื้นที่ปิด ทำให้เราสามารถทำนวัตกรรมได้เยอะ เราไม่ได้แข่งกับเจ้าอื่นแต่สื่อเราต้องอิมแพ็คมาก คุณเดินมา สามารถมาแตะสื่อของเราได้เลย สามารถมีลูกเล่นได้เยอะแยะมากมาย เราต้องเอาจุดต่างตรงนี้มาสร้างมูลค่าให้กับตัวเอง และเราต้องตามเทรนอยู่ตลอดเวลา”
หลังจากบริหารบีเอ็มเอ็นมาได้ 2 ปี ธุรกิจของบีเอ็มเอ็นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดย “คุณโจ้” บอกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโชคช่วย เพราะมีคนเข้ามาใช้เอ็มอาร์ทีเพิ่มมากเขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่แน่ๆ คือ เขารู้จักที่นำจุดแข็งของตัวเองมาต่อยอด เท่าที่ผ่านมา เขาพอใจในผลงานตัวเองระดับหนึ่ง แต่แน่นอนว่า มันสามารถขยับผลงานให้ดีขึ้นได้อีก และยังเรียนรู้ได้มากกว่านี้ เพราะเขาเพิ่งมาบริหารงานมีเดียได้แค่ 2 ปี เขาเชื่อว่า เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะไปได้มากกว่านี้แน่นอน นั่นคือเป้าหมายที่ผู้บริหารคนนี้พร้อมเดินต่อไป
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : thansettakij.com