พาณิชย์ส่งสัญญาณ 5 เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนการค้าโลก จี้ส่งออกไทยปรับตัวก่อนตกขบวน การ์เมนต์ติวเข้ม 340 สมาชิกปฏิวัติสู่โรงงานแห่งอนาคต ฉายหนังตัวอย่างยอดส่งออกไปสหรัฐฯวูบหลังห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่เจอค้าออนไลน์ทุบตลาดทำสั่งออร์เดอร์หด
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันหลายด้านนั้นจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นโดย World Economic Forum (WEF) พบว่า ประเทศ สมาชิกอาเซียนซึ่งรวมไทยด้วยจะได้รับผลกระทบจาก 5 ความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่ IoT (Internet of Things), Artificial Intelligence (AI หรือปัญญาประดิษฐ์), Advanced Robotics (หุ่นยนต์อุตสาหกรรม), Wearables (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ติดตัว) และ Additive Manufacturing เช่น 3D printing(การพิมพ์ 3 มิติ) ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวรองรับ
อย่างไรก็ดีภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ได้มีการผลิตและส่งออกสินค้า IoT มากขึ้น เช่น แผงวงจรที่มีความ ซับซ้อน หน่วยความจำ SDD สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยเริ่มพัฒนาไปสู่การรองรับ IoT บ้าง แล้ว แต่เทคโนโลยีของสินค้าส่งออกกลุ่มนี้ยังไม่อยู่ในขั้นที่สูงเพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ไทยยังผลิตเพียงส่วนประกอบหรือ parts ของสินค้า IoT เท่านั้น ไม่ใช่ตัวสินค้า
“ดังนั้นในระยะกลางไทยควรเร่งยกระดับให้ก้าวไปสู่การผลิตตัว connected devices (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวเชื่อมโยงระบบการทำงาน) โดยตรง ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ เพราะมีฐานการผลิตสินค้าที่เป็นอนาคตในกลุ่มสำคัญอยู่แล้ว เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ แต่ในระยะยาว ไทยต้องเร่งสร้างส่วนประกอบอื่นๆ รองรับ IoT ด้วย ไม่ควรมุ่งเป้าจะเป็นแค่ฐานการผลิตสินค้าเหล่านี้เท่านั้น เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้อยู่ในประเทศได้เท่าที่ควร ควรจะสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์ต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย เช่น ระบบ smart logistics, smart agriculture รวมไปถึง smart healthcare ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ มองว่าจะช่วยรักษาความสามารถในการส่งออกของเราได้ในระยะยาว”
นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนไทย ควรจะสร้างฐานข้อมูล Big Data ดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์ได้ เช่น เราจะทราบความต้องการของผู้บริโภคที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น และการมีฐานอุตสาหกรรม cloud service and industry ในไทยก็จะช่วยเสริมการรองรับ IoT ได้ ทั้งนี้หากไทยไม่สามารถปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีได้ก็มีความเสี่ยงที่การค้าและการส่งออกอาจจะเผชิญปัญหาในอนาคต แม้ว่าในระยะสั้นภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มปรับตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่เร็วและลึกพอ
ด้านนายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)ของไทยและจากหลายประเทศไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดกำลังเจอภัยคุกคามจากการค้าออนไลน์ที่ปัจจุบันชาวอเมริกันนิยมสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ห้างค้าปลีกรายใหญ่ เช่น เมซี่ส์ ทาร์เก็ต วอล มาร์ต ทยอยปิดหรือลดสาขาลง ส่วนหนึ่งกระทบกับการนำเข้าเสื้อผ้าจากไทยไปจำหน่ายลดลง เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกการ์เมนต์ของไทยไปสหรัฐฯ 10 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบที่ 8%
สำหรับการก้าวผ่านของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มสู่ยุค 4.0 ที่แข่งด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น คำว่าดิจิตอล โรบอต หรือออโตเมชัน ยังไม่สามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด จากไม่ได้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคมากนัก ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก แต่เพื่อการปรับตัวรองรับการแข่งขันที่รุนแรงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทางสมาคมได้วางกรอบการทำงานเพื่อเร่งยกระดับการผลิตของสมาชิกกว่า 340 ราย(ครอบคลุมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย 90%) ให้สูงขึ้น เพื่อเป็นโรงงานแห่งอนาคต (FACTORY oF THE FUTURE : FoF)
ทั้งนี้กรอบการทำงานคือ การปรับกระบวนการผลิตโดยนำเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น และเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและฝีมือให้สูงขึ้นทั้งองค์กร มุ่งผลลัพธ์ที่จะตามมา 6 ประการคือ 1.สมรรถนะการผลิตดีขึ้น 2.โรงงานมีความยืดหยุ่นรองรับออร์เดอร์ได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งผลิตครั้งละจำนวนน้อยๆ หรือจำนวนมากๆ 3.ส่งมอบสินค้าได้รวดเร็ว 4.มีคุณภาพ 5.ความปลอดภัย และ6.รักษาสิ่งแวดล้อม
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกกล่าวว่า รูปแบบการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ(B2B) ณ ปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยังต้องอาศัยการเจรจาผ่านช่องทางต่างๆ เช่น พบปะเจรจาตัวต่อตัว การส่งอี-เมล์ โทรศัพท์พูดคุยกันโดยตรง แต่ ณ ปัจจุบันมีช่องสื่อสารใหม่ๆ เสริม เช่น อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่มีอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มให้ผู้ซื้อ-ขายเขาไปเจรจาซื้อขายกันแบบหลายรายพร้อมๆ กันได้
“thaitrade.com สนับสนุนการค้าอี-คอมเมิร์ซของกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน ยังเป็นแค่ การโชว์เคสมีรูปสินค้าและมีเบอร์ติดต่อซื้อขายกันทีหลัง แต่เราอยากให้มีแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อขายกันในลักษณะ B2B ได้จริงๆ ขณะที่จะได้ยินคำว่าบล็อกเชน ฟินเทค หรือบิตคอยน์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลง เวลานี้ทางแบงก์ ชาติยังไม่มีการออกกฎระเบียบมารองรับหรือคุ้มครองเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องรับความเสี่ยงกันเอง จึงอยากให้เข้ามาดูแลมากขึ้น”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : thansettakij.com