หากคุณเคยใช้ BTS คุณจะพบสัจธรรมที่ว่า ตรงไหนก็สามารถขายโฆษณาได้..
เดิมมีแค่ป้ายธรรมดา ป้าย LED การ wrap บนรถไฟฟ้า ตอนนี้ลามไปถึงบันได ป้ายชื่อสถานี หรือ เสียงก่อนลงสถานีอีกด้วย
และที่สังคมกำลังพูดถึงก็คือ ขนาดรถไฟฟ้าดับ เสียงโฆษณายังไม่ดับเลย …
ฉะนั้นเรามาดู รายได้ กำไร และตัวเลขที่น่าสนใจกัน
บริษัทที่ดูแลสื่อโฆษณาของ BTS คือ VGI Global Media
หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2556 VGI ก็มีรายได้ที่แตะ 2 พันล้านมาโดยตลอด ซึ่งที่ตัวเลขกำไรขึ้นลงนั้น มาจากการไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม รวมกับปัจจัยที่ไม่คาดคิดที่ทำให้โฆษณาต้องหยุดชะงักไป
แต่หลังจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะเติบโตเรื่อยๆ หลังจากที่ชะลอตัวมาสักระยะ ทำให้คาดว่ารายได้ของ VGI ก็น่าจะขยับไปแตะ 3 พันล้าน 4 พันล้านในเร็วๆ นี้
แต่ไปดูฝั่ง MRT ถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาระบบการจัดการให้มีกำไรเพิ่มขึ้นได้ กำไรที่ประกาศจึงเป็น 1 ล้านบ้าง 30 ล้านบ้าง 20 ล้านบ้าง เป็นต้น
Timeline ของ VGI
หลังจากที่กลุ่ม BTSC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ่นใหญ่ของ VGI ในปี 2552 จากนั้นมา VGI ก็ดึงบริษัทที่เกี่ยวกับสื่อโฆษณา มาเสริม Portfolio อย่างครบครัน
ปี 2552 : ซื้อบริษัท POV ที่ทำสื่อโฆษณาในอาคารสำนักงานทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งครอบคลุมถึง 170 ออฟฟิส และ 262 คอนโดฯ
ปี 2553 : ได้สิทธิ์ในการดูแลสื่อโฆษณาของ BRT เป็นเวลา 7 ปี
ปี 2553 : ได้ทำข้อตกลงสื่อโฆษณาในชั้นร้านค้า กับ Tesco Lotus และ BIG C
ปี 2556 : เข้าตลาดหลักทรัพย์
ปี 2557 : ถือหุ้นบริษัท MACO ที่ทำสื่อนอกบ้าน (OOH) 24.96% ก่อนเพิ่มเป็น 37.42% ในปี 2559 โดย Maco มีบิลบอร์ดมากกว่า 2,200 บิลบอร์ด
ปี 2558 : ได้สิทธิ์ในการจัดการสื่อโฆษณา ของ Artista Media ซึ่งเป็นจอโฆษณาดิจิทัล ในคอนโดฯ ของ LPN, AP และ Grand Unity รวมแล้วมี 549 จอ ใน 219 คอนโดฯ และจะเพิ่มเป็น 400 คอนโด ในปี 2560
ปี 2558 : เข้าสู่ตลาดสายการบิน ด้วยการลงทุนซื้อหุ้น Aero Media 20% ซึ่งครอบคลุม 13 สนามบินในไทย
ปี 2559 : ถือหุ้น 40% ใน Demo Power ซึ่งเป็นบริษัท สื่อแบบ Activation
ปี 2559 : ไปตลาดมาเลเซีย ด้วยการลงทุนในบริษัท Titanium Compass ซึ่งก็คือบริษัทที่ดูแลโฆษณาของ MRT ที่มาเลเซียนั่นเอง
พูดง่ายๆ ก็คือ ออกนอกบ้าน ต้องเจอโฆษณาของ VGI แน่ๆ
ข้อคิด
หาก VGI ทำแค่โฆษณาเฉพาะรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว พวกเขาก็มีกำไรหลักร้อยล้าน พันล้านได้ไม่ยาก
แต่พวกเขาไม่หยุดแค่นั้น เมื่อเห็นโอกาสพวกเขาพร้อมกระโดดลงไปเล่นทุกเมื่อ โดยใช้ความถนัดของตัวเองจากการทำสื่อนอกบ้าน เข้าไปรวมกับสถานที่ที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า บิลบอร์ดตามถนน ห้างสรรพสินค้า คอนโด ออฟฟิศ รวมไปถึงสนามบิน ทำให้ VGI มีข้อมูลในมือที่รอบด้าน
ยัง… ยังไม่หยุดแค่นั้น ยังมีการตั้งบริษัท BSS ที่ทำเรื่องบัตร Rabbit และจัดการข้อมูล ทำให้พวกเขาสามารถยกระดับบริการของพวกเขาขึ้นไปได้เรื่อยๆ และ Rabbit เองก็ไปจับมือกับ LINE เพื่อสร้างความแข็งแกร่งขึ้นไปอีก
อ่านมาถึงตรงนี้ คงเข้าใจนะแล้วว่าทำไมโฆษณาบน BTS ถึงเยอะกว่า MRT หรือ ขนส่งมวลชนทุกราย
และถ้ายังไม่สะใจ ตามไปอ่านที่ Investor Relations ของ VGI ได้ บอกเลย ข้อมูล ดี และ ลึก มาก
ในโลกออนไลน์ พอพูดคำว่า BTS ขึ้นมา คนจะบ่นเรื่อง การขัดข้อง หรือ ขึ้นค่าโดยสาร
แต่สิ่งที่ต้องยอมรับ ก็คือ กลยุทธ์ในการลงทุนที่ชาญฉลาด ที่ทำให้ขยายอาณาจักร และต่อยอดออกไปได้เรื่อยๆ
ในสภาพการจราจรแบบนี้ คนกรุงเทพฯ ก็ยังต้องขึ้น BTS และ บ่นต่อไป…
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : marketeeronline.co