Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

สื่อออนไลน์ไม่ ”ปัง” ในต่างจังหวัด กับทางรอด สื่อโฆษณาปี 2018

สื่อออนไลน์ไม่ ”ปัง” ในต่างจังหวัด กับทางรอด สื่อโฆษณาปี 2018
February 4, 2018 dhammarong

ถึงแม้วันนี้ตัวเลขภาพรวมของธุรกิจโฆษณาในปีที่ผ่านมาของสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ยังไม่ออกมา  แต่ไตรลุจน์ นวะมะรัตนนายกสมาคม MAAT  กล่าวว่าภาพกว้างๆของอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2017 ยังมีตัวเลขติดลบประมาณ 5-6 %  ถ้า เทียบกับปี 2016  แต่เป็นการติดลบในอัตราที่ลดลง เพราะในปี 2015 – 2016  ติดลบไปถึง 11-12 %   เป็นสัญญาณที่ดีขึ้นว่าธุรกิจโดยรวมของปีนี้สดใสกว่าปีก่อนๆ

“ดังนั้นภาพรวมของการใช้เม็ดเงินโฆษณาในปี 2018  ผมยังมั่นใจว่าจะดีกว่าปี 2017    ถ้าไม่มีปัญหาอะไรทางด้านการเมือง ที่จริงเรื่องของการเมืองไม่ได้มีผลโดยตรงต่องบโฆษณา เป็นผลกระทบทางอ้อมมากกว่า  คือถ้าการเมืองไม่นิ่งการที่คนจะจับจ่ายใช้สอยก็ไม่เต็มที่ และถึงแม้จะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไป แต่ไม่มีการตีกัน ไม่ทะเลาะกันก็ไม่เป็นไร ทีนี้ใครจะได้ ใครจะไม่ได้เรายังไม่พูดขอให้เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ก่อน”

ไตรลุจน์ ยังกล่าวว่า ในการซื้อสินค้าคนไทยไม่เหมือนฝรั่งที่จะใช้อารมณ์ ความรู้สึก      มามีส่วนในการตัดสินใจอย่างมาก เวลาใช้ก็ใช้เยอะแต่พอเบรกก็เบรกเลย

สินค้าในกลุ่ม  FMCG  จะกลับมาเร็วกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ เพราะแค่คนก้าวเท้าออกจากบ้านก็มีการซื้อแล้ว  การทำตลาดก็จะกลับมา งานอีเว้นท์ โปรโมชั่นก็เกิดขึ้น ยิ่งเป็นการกระตุ้นยอดขายให้ดียิ่งขึ้น

เครื่องดื่มเป็นอีกตัวหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ตัวเลขการซื้อดื่มประจำก็ส่วนหนึ่ง แต่การซื้อเพราะมีงานปาร์ตี้ งานจัดเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นหลังจากลดลงไปเมื่อปีที่ผ่านมา มีผลทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในปีนี้แน่นอน

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็จะส่งผลต่อเนื่องไปให้ธุรกิจหลายๆอย่างเติบโตด้วยเช่นโรงแรม ร้านอาหาร รวมไปถึงรถยนต์ ที่ต้องซื้อเพื่อใช้ในการเดินทาง

ถึงแม้คนใช้เงินมากขึ้นสินค้าขายดีขึ้น แต่เจ้าของสินค้าก็จะไปใช้สื่อที่ราคาถูกลง อย่างเช่นออนไลน์

 

สื่อออนไลน์ล้ำไป คนก็ตามไม่ทัน  

ในความเห็นของไตรลุจน์เขาบอกว่า  สื่อออนไลน์ที่เข้ามาแทนที่สื่อดั้งเดิมเดิมอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มคงที่ไม่พุ่งทะยานเหมือนเดิม ถ้าจะเพิ่มไปอีกก็ต้องหาเทคโนโลยีที่ใหม่ๆเข้ามานำเสนอแทนรูปแบบเดิมๆ

“แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีถ้าใหม่ล้ำมากไปก็ไม่ได้หมายความว่าไปเร็วมาก   เพราะเทคโนโลยีตอบสนองได้เร็วกับคนบางกลุ่ม ไม่นับเรื่องโทรศัพท์มือถือที่ mass มาก คนส่วนใหญ่มี แต่ทุกคนไม่ได้มีแลปทอป ไม่ได้มีโน้ตบุ๊ค  นอกจากเมื่อไหร่ที่บ้านเราคนระดับเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านคอมพิวเตอร์ผ่านสมาร์ทโฟนได้การตอบรับอาจจะเร็วขึ้น  ”

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าต่อไปการใช้ออนไลน์สะดวกขึ้น  เครือข่ายอินเตอร์เน็ตแรงขึ้น   แต่ถ้าคอนเทนต์ไม่มีอะไรน่าสนใจเลย  เทคโนโลยีก็ก็ช่วยไม่ได้ อย่างเช่นการการไลฟ์สด  ถ้าคอนเทนต์หรือเรื่องที่เอามาไลฟ์ไม่ดี ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย การไลฟ์สดก็ไม่มีความหมายเหมือนกัน

 

ไล่ตามเทรนด์ได้ ทีวีไม่มีทางตาย

ส่วนทีวีซึ่งเป็นเป็นภาพเคลื่อนไหว ไม่ต้องอ่าน  ดูได้สนุก ๆผ่านคอนเทนต์หลายๆอย่าง ทำให้คนดูทีวีไม่ได้หายไปไหน แค่เปลี่ยนดีไวส์ในการดูเท่านั้นเอง ต้องตามไปจับคนกลุ่มนี้ให้ได้ เพื่อให้โฆษณาตามไปลง

ทีวียังอยู่ได้แน่นอน เม็ดเงินยังเหมือนเดิม เพียงแต่จะอยู่ที่ช่องไหนเท่านั้นเอง ปีนี้ ตัวเลขอาจจะยังต่ำ แต่ต่ำในอัตราที่ดีขึ้นแทนที่จะลบเยอะกว่านี้ก็ลบน้อยลง

ปกติเอเยนซีอาจจะมอง  6 สถานีแรกเป็นหลัก ด้วยแรงกิ้งก่อน แต่หลังจากนั้นต้องดูลึกลงไปว่าในแต่ละช่วงเวลาเป็นคนกลุ่มไหนดู อายุเท่าไหร่ กรุงเทพ หรือต่างจังหวัด     Segment ของทีวี ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น

“การทำทีวีเป็นเรื่องยาก เพราะพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนเร็วมาก ช่องต้องไล่ตามเทรนด์ใหม่ๆที่เข้ามา แล้วครีเอทคอนเทนต์ของช่องตัวเองให้ทัน”

กลยุทธ์ในเรื่องการทำคอนเทนต์สำคัญมาก เพราะตอนนี้กสทช เริ่มมีการผ่อนคลายกฎลง เช่นมีเงื่อนไขการจ่ายเงินช้าลง  ทำให้คนที่ไม่มีเงินกำลังจะตายอยู่แล้วก็อยู่ได้เพราะไม่ต้องจ่ายเงิน  ส่วนคนที่มีเงินจ่ายแต่ไม่มีเงินลงทุนคอนเทนต์ ก็จะได้เอาเงินไปลงทุนคอนเทนต์มากขึ้น

ส่วนสิ่งพิมพ์ที่อยู่ได้ต้องมีความเป็น unique โดดเด่น   แต่ต้องยอมรับว่าเปอร์เซ็นต์ของคนอ่านน้อยลงจริงๆ จะมาแข็งขืนว่ายังแน่ ฉันยังเป็นอันดับ 1 ไม่ได้ในเมื่อเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อเห็นกลุ่มผู้อ่านชัดเจน พิมพ์ไม่เยอะ ขายหมด สินค้าก็ตามมา และทางออกอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งพิมพ์ต้องตามผู้บริโภคให้ได้อาจจะเข้าไปในแพลตฟอร์มของออนไลน์หรือทีวี

“สิ่งที่ทำให้สิ่งพิมพ์แย่ลงเพิ่มไปอีกคือการกระพือข่าวกันเองเวลามีเล่มไหนปิดตัว ทั้งๆที่บางเล่มเขายังไม่ถึงกับขาดทุน แต่เขาไม่ปรับตัว ไม่สู้ต่อ ยอมจบเร็วแบบสวย ๆแค่นั้น  ถ้าเขาปรับตัวก็อาจจะยังอยู่ได้อีกนาน  กลายเป็นกระแสที่แรงเลยกลายเป็นว่าสิ่งพิมพ์ ตกต่ำจริงๆ”

 

งบลดลง ทำงานยากขึ้น

จะเห็นได้ว่าตลอดหลายปีที่งบประมาณทางโฆษณาลดลง  แต่การทำงานของเอเยนซี่กลับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการทำงานยากกว่าเดิม การลดคนของบริษัทเอเยนซี่ ทำได้ยาก  แต่คนเก่า ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ คนที่มีอยู่ต้องเก่งกว่าลูกค้าให้ได้

คนที่เอเยนซี่ต้องการได้ในตอนนี้เก่งเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ที่เข้ามาต้องมีความเป็น ไฮบริด

“เราคือมีเดียเอเยนซี่ดังนั้นคุณต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเอเยนซี่ทั้งหมด  คุณจะออนไลน์จ๋า แต่ไม่รู้ว่าทีวีรายกายไหนกำลังมาแรงคนพูดถึงกันทั้งเมืองก็ไม่ใช่ หรือไม่รู้ว่าสื่อ OUT OF HOME เดี๋ยวนี้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี Digital  ไปได้ไกลแค่ไหนแล้ว  คุณต้องรู้ว่าออนไลน์สามารถเชื่อมโยงไปยังออฟไลน์อื่นๆได้อย่างไร ต้องแมทกันให้ได้ แอดติจูดในเรื่องพวกนี้ต้องมี และจำเป็นมาก”

สุดท้ายแล้วไตรลุจน์ย้ำว่ายังไงก็ตาม    Content is always a KING   เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหนในออนไลน์หรือออฟไลน์   ดังนั้นต้องไล่ตามเทรนด์ให้ทัน  เพื่อครีเอทคอนเทนต์ดีๆให้ได้

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : marketeeronline.co