เชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-Eleven) เตรียมนำเทคโนโลยี AI “Facial Recognition” หรือ “ระบบจดจำใบหน้า” มาใช้สาขาของเซเว่นฯ ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และพนักงาน
“กลุ่มซีพี” ได้จับมือกับ “Remark Holdings” บริษัทพัฒนา AI ที่ดำเนินธุรกิจในจีน และสหรัฐอเมริกา ทั้งยังจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ในการนำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าชื่อว่า “KanKan” ติดตั้งในสาขาของเซเว่น อีเลฟเว่น 11,000 สาขา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเก็บบันทึกข้อมูล และวิเคราะห์ครอบคลุมหลายด้าน เช่น
-พฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้าน
-จำนวนลูกค้าเข้าร้าน
-ระยะเวลาที่ลูกค้าอยู่ในร้าน
-การใช้เวลาหน้าชั้นวางสินค้า และจับอารมณ์ของลูกค้าเมื่อเดินผ่านชั้นวางสินค้า
-การให้บริการของพนักงาน
เพื่อนำข้อมูล (Big Data) ที่วิเคราะห์ออกมาแล้ว มาออกแบบเป็น Loyalty Program เช่น โปรโมชั่น นำเสนอให้กับลูกค้าสมาชิกของเซเว่น อีเลฟเว่น และทำให้แต่ละสาขา สามารถคาดการณ์การสต็อกสินค้าแต่ละประเภท แต่ละแบรนด์ได้ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น เพื่อทำให้การบริหารจัดการสินค้าภายในร้านสาขามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี Facial Recognition “KanKan” ว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญครั้งแรกกับ “Remark Holdings” โดยเรามองว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยสร้างการเติบโตด้านรายได้ให้กับเซเว่น อีเลฟเว่นในไทย ขณะเดียวกันช่วยลดต้นทุน และเพิ่ม Margin ให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ “กลุ่มซีพี” ยังมีแผนจะนำเทคโนโลยี KanKan ไปใช้กับ “Ping An Insurance” บริษัทดำเนินธุรกิจประกันภัย-ประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศจีน โดยมี “กลุ่มซีพี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทางด้าน Kai-Shing Tao ผู้บริหาร Remark ขยายความเพิ่มเติมว่า Artificial Intelligence มีพลังมหาศาลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม และ “ซีพี” ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างมาก ในการนำไปประยุกต์ใช้การดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม Remark เผยว่าเทคโนโลยี “Facial Recognition” จำเพียงเค้าโครงใบหน้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นการจดจำทุกองค์ประกอบของใบหน้าคนเรา จึงแตกต่างจากเทคโนโลยีจดจำใบหน้า และสแกนใบหน้าที่ใช้สำหรับเข้ารหัสอุปกรณ์ หรือโปรแกรมต่างๆ นอกจากนี้ภาพหน้าของลูกค้า จะไม่ถูกจัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบถาวร และไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า เช่น ชื่อ, หมายเลขโทรศัพท์, ที่อยู่ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้บริโภค เริ่มนำเทคโนโลยี “Facial Recognition” มาใช้มากขึ้น อย่างเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว “Ant Financial” ผู้ให้บริการด้านการเงินดิจิทัล บริษัทในเครือ Alibaba เปิดตัว “Smile to Pay” เป็นระบบชำระค่าสินค้าด้วยการสแกนใบหน้าที่หน้าจอตู้ให้บริการตัวเองภายในร้าน โดยเริ่มต้นทดลองที่ KFC สาขาหางโจว
หรือแม้แต่ “Seven & I Holdings” ได้เริ่มนำ “Facial Recognition” มาใช้กับเซเว่น อีเลฟเว่นบางสาขาในญี่ปุ่น และไต้หวัน
อย่างไรก็ตามกลุ่มสิทธิพลเมืองเสรีภาพ ได้ออกมาเตือนถึงการเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว เพราะมองว่าข้อมูลเหล่านี้ สามารถแชร์ให้กับคนอื่น เช่น บริษัทประกัน, เครดิตการ์ด หรือแม้แต่หน่วยงานรักษาความมั่นคงของรัฐ
เพราะฉะนั้นแล้ว ภาคธุรกิจ หรือบริษัทใดจะนำเทคโนโลยี “Facial Recognition” ไปใช้ ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เป็นอีกทางหนึ่งของการเก็บ Big Data เพื่อนำมาพัฒนาสินค้า-บริการ-สิทธิประโยชน์ให้ตรงใจลูกค้าเฉพาะบุคคล (Personalization) หรือเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสาขาร้าน หรือภายในองค์กร บริษัทนั้นๆ ต้องมีระบบความปลอดภัยขั้นสูง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคต่อเทคโนโลยีดังกล่าว
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : brandbuffet.in.th