คอลัมน์ นอกรอบ
โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง
เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้น ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐ กลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งอธิบายได้ว่าเป็นผลของสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง (โดยเฉพาะการบริโภค) แต่ก็ยังหวังว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาส 2 และขยายตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณให้เห็นว่าการชะลออาจจะมีต่อเนื่องได้ในบางประเทศ สำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้น ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเอเชีย) เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้จะชะลอลงบ้าง ทั้งนี้ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวและเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ก็มีบางประเทศที่มีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น อาร์เจนตินา ตุรกี บราซิล ซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะตัว
ในกรณีของสหรัฐนั้น ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้น่าจะได้อานิสงส์จากนโยบายการคลังที่มีการปรับลดภาษีเงินได้ และการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยดัชนีชี้วัดในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมหลายตัว (ยอดขายปลีก, ดัชนี PMI, การจ้างงาน) ก็ยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้คาดการณ์ว่าสหรัฐจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณ 3% หลังจากที่ขยายตัวชะลอลงในไตรมาส 1
ขณะที่กลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่น นอกจากเศรษฐกิจไตรมาส 1 จะขยายตัวต่ำกว่าคาดแล้ว ดูเหมือนว่าดัชนีชี้วัดในช่วงที่ผ่านมายังค่อนข้างอ่อนตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยูโร ที่มีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี และสเปน (ประเทศใหญ่อันดับ 3 และ 4 ในยูโรโซน) ที่อาจจะกระทบกับความเชื่อมั่น จนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องสะดุดลงได้ โดยนักวิเคราะห์บางแห่ง เช่น แบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริล ลินช์ ก็ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของยูโรโซนจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.4% เหลือ 2.1% ในปีนี้
ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้น ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (นอกเหนือจากปัจจัยภายในเฉพาะประเทศ) คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจหลัก (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน) ซึ่งในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณชะลอในบางประเทศ แต่ก็คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่เกื้อหนุน ทั้งนี้สังเกตได้จากดัชนีชี้วัด เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (หรือ purchasing manager index-PMI) ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระดับเกิน 50 แปลว่าเศรษฐกิจในสายตาของผู้ผลิต/ผู้ขาย ยังขยายตัว แม้ว่าจะปรับลดลง เช่น ยูโร ปรับลดลงจาก 55.1 ในเดือนเมษายน เป็น 54.1 ในเดือน พ.ค., สหรัฐปรับลดลงจาก 56.5 เป็น 56.4 (แต่หากดัชนี PMI ต่ำกว่า 50 จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังหดตัว)
นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกของประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน ก็เป็นดัชนีที่สำคัญที่ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแรงขับเคลื่อนทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าอยู่ โดยตัวเลขการส่งออกของเกาหลีเดือน พ.ค.ที่เพิ่งประกาศขยายตัว 13.5% และในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังขยายตัวดีอยู่ แสดงว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ใช้ได้
ดังนั้น ดูเหมือนว่าในภาคเศรษฐกิจจริง เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ในปัจจุบันและจนจบไตรมาส 2 แต่ไม่ได้ขยายตัวแบบเร่งตัวเหมือนช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือ การขยายตัวจะยังคงต่อเนื่องได้ในครึ่งหลังของปีนี้หรือไม่ ทั้งนี้เมื่อมองดูแล้ว มีปัจจัยลบอย่างน้อย 3 ปัจจัย ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงในครึ่งปีหลัง คือ
1.ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบ ดังนั้น แนวโน้มเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ น่าจะกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ดังนั้นน่าจะเห็นดอกเบี้ยในประเทศต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น
2.นโยบายการค้าของสหรัฐ ล่าสุดสหรัฐก็เริ่มเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมกับทุกประเทศ (หลังจากยืดเวลามา 2 เดือน) และในเดือนนี้ ถ้าเจรจากับจีนไม่สำเร็จ สหรัฐก็อาจประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าประเทศต่าง ๆ จะตอบโต้กลับ
ทั้งนี้ อียูและแคนาดาก็ได้พิจารณาที่จะตอบโต้สหรัฐที่เก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของตน และเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าจีนก็คงจะตอบโต้เช่นกัน ซึ่งความขัดแย้งด้านการค้าอาจจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าถูกนำมาเป็นประเด็นในการหาเสียงเลือกตั้งของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหากมีการตอบโต้ทางการค้าโดยใช้มาตรการภาษี ก็น่าจะกระทบกับปริมาณการค้า และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนา (รวมทั้งไทย) จะได้รับผลกระทบมาก เพราะการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักจะถูกกระทบ
3.การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง (ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น) ทำให้เกิดการตึงตัวในตลาดแรงงาน (ตัวเลขการจ้างงานล่าสุดเดือน พ.ค. มีการจ้างงานเพิ่มกว่า 200,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานปรับลดลงมาที่ 3.8%) และเงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 0.50% ในปีนี้ ซึ่งดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ขยายตัว จะสนับสนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงขึ้น และค่าเงินที่แข็งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา เพราะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้นและเผชิญปัญหาเงินไหลออกได้ ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนได้
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : prachachat.net