ลุ้นเม็ดเงินโฆษณาครึ่งปีหลัง โต 4% หลัง 5 เดือน ติดลบ 4.2% ผิดหวังบอลโลก 2018 ไม่ช่วย ไร้เงาขาใหญ่ ‘รถยนต์-มอเตอร์ไซค์’ ขณะที่ ‘สื่อออนไลน์-สื่อนอกบ้าน’ ขาขึ้น ยอดโตสวนทางสื่อทีวี ด้าน ‘เฮียฮ้อ’ มั่นใจ 6 เดือน หลังทีวีดิจิตอลแข่งดุ เปิดเกมชิงส่งคอนเทนต์ใหม่ ทั้งซีรีส์อินเดีย ละคร วาไรตี ออกชิงเรตติ้ง
รายงานของ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2561) มีการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 4.23 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีการใช้จ่ายเงิน 4.42 หมื่นล้านบาท โดยสื่อหลักอย่าง สื่อทีวีดิจิตอล มีการใช้จ่ายเงิน 1.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.45% ขณะที่ สื่อทีวีอนาล็อก มีการใช้จ่าย 1.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 15.86% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของธุรกิจ ส่วนสื่อวิทยุ โรงภาพยนต์ สื่อกลางแจ้ง สื่ออินสโตร์ ยังคงมีการเติบโตในทิศทางที่ดี แต่โดยภาพรวมยังคงติดลบ ไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีปัจจัยบวกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเมือง หรือ กระแสนิยมละครดัง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้ง BNK48 , เป๊ก ผลิตโชค ฯลฯ เป้าหมายที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมโฆษณาในปีนี้กลับมาเป็นบวก จึงยังคงเป็นเรื่องที่เหนื่อยต่อไป
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้นปี 2561 ทุกคนคาดการณ์ว่า ปีนี้จะสดใสกว่าทุกปี และภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาจะกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ติดลบมาหลายปี เพราะมีปัจจัยบวก ทั้งเรื่องของการเมือง กระแสศิลปิน ดารา ละครที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการสื่อ รวมถึงบอลโลกที่เป็นตัวแปรสำคัญ อีกทั้งการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในเดือน ม.ค.-ก.พ. ก็เป็นบวก
แต่ผิดคาด เมื่อเศรษฐกิจมหภาคไม่ดีอย่างที่คิด ขณะที่ กลุ่มเอสเอ็มอี แม้จะมีการเติบโตและใช้จ่ายเงินมากขึ้น แต่ก็ใช้สื่อออนไลน์และเจาะผ่านร้านค้าออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งเม็ดเงินเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในประเทศ เป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติ เงินจึงไหลออกหมด
“ปีนี้คาดว่า อุตสาหกรรมโฆษณาจะเติบโตได้ 4% ถือว่าดีมากแล้ว เพราะต้นปีที่มีการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ทำให้คาดว่าจะเติบโตได้ 7% แต่เมื่อผ่านไป 5 เดือน เม็ดเงินโฆษณาไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ส่วนช่วงบอลโลกที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เม็ดเงินโฆษณาสะพัด เมื่อพบว่า มีรูปแบบการบริหารจัดการที่เปลี่ยนไป แตกต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้แบรนด์สินค้าไม่สามารถใช้เงินโฆษณาได้ โอกาสที่สื่อทีวีจะกลับมาคึกคัก และอุตสาหกรรมโฆษณาจะเติบโตจึงเป็นไปได้ยาก” นายภวัต กล่าวและว่า
ตลาดโดยส่วนใหญ่มันยังไม่ได้กระเตื้อง ไม่มีคนใช้จ่ายเม็ดเงินอย่างหวือหวา ช่วงซัมเมอร์ที่คิดว่าจะกลับมาบูม ก็นิ่ง ๆ ปัจจัยหลักมาจากสื่อทีวี ที่มีการใช้จ่ายลดลง แม้สื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้านจะเติบโตขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถมาช่วยพยุงตัวเงินของสื่อทีวีที่หายไปได้
โดยครึ่งปีหลัง จะมีทิศทางคล้ายคลึงกับครึ่งปีแรก โดยออนไลน์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่ ทีวียังอยู่ในภาวะขาลง แต่อาจจะไม่มากนัก สื่ออื่นก็อยู่ในภาวะทรงตัว ส่วนปัจจัยบวกที่จะเข้ามา มีเรื่องของเอเชี่ยนเกมส์ ที่เป็นกีฬาที่คนไทยให้ความสนใจ ซึ่งสินค้าที่จะเข้ามาของพื้นที่โฆษณาคงหนีไม่พ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ เดือน ก.ย.-ต.ค. เชื่อว่าจะมีการกลับมาใช้จ่ายเงินโฆษณาตามปกติด้วย
“บอลโลกถือเป็นอีเวนต์สำคัญของวงการโฆษณา นอกจากเรื่องของการโฆษณาในช่วงเวลาต่าง ๆ แล้ว ยังรวมถึงการทำออนกราวด์ แต่บอลโลกครั้งนี้ ถูกจำกัดให้เฉพาะ 9 สปอนเซอร์เท่านั้น ส่วนแบรนด์อื่นก็อาจมีบ้าง หากเป็นโกลบัลสปอนเซอร์ ส่วนขาประจำที่จะทุ่มงบโฆษณา ทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ปีนี้ไม่มีโอกาสได้ใช้เงินเลย”
นายภวัต ยังกล่าวอีกว่า ปีนี้เรียกว่า แตกต่างจากทุกปีจริง ๆ ในมุมของคนทำงานอย่างพวกเรา รูปแบบของกระแส แน่นอนว่า ทุกคนรับทราบดีว่า กระแสปีนี้มันเบา กลุ่มทีวี รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ที่เดิมจะคึกคัก ทำกิจกรรมกันตั้งแต่ก่อนเริ่มแข่งขัน แต่ปีนี้กลับไม่มี รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ที่เคยทำ สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง เกาะกระแสฟุตบอลโลก ปีนี้ก็หายไปเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้จ่ายเงินสูงสุดในช่วง 5 เดือน ที่เป็นของทีวีไดเร็ค ใช้เงินโฆษณา 1,106 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ธนาคารออมสิน 426 ล้านบาท , โค้ก 372 ล้านบาท , เทสโก้ โลตัส 298 ล้านบาท และโทรศัพท์มือถือซัมซุง 289 ล้านบาท
สำหรับเรตติ้งทีวีดิจิตอลล่าสุด ระหว่างวันที่ 4-10 มิ.ย. 2561 พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ ช่อง 7HD เรตติ้ง 1.756 ซึ่งละครที่ทำเรตติ้งได้สูงสุด คือ สัมปทานหัวใจ ซึ่งคาดว่า หลังจากละครจบลงเรตติ้งจะค่อย ๆ ซาลง , อันดับ 2 ได้แก่ ช่อง 3HD เรตติ้ง 1.587 , อันดับ 3 ช่องโมโน 29 เรตติ้ง 0.807 , อันดับ 4 ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี เรตติ้ง 0.790 , อันดับ 5 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.565 , อันดับ 6 ช่องวัน 31 เรตติ้ง 0.564 , อันดับ 7 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.350 , อันดับ 8 ช่องไทยรัฐทีวี เรตติ้ง 0.338 , อันดับ 9 ช่องอัมรินทร์ทีวี เรตติ้ง 0.283 และอันดับ 10 ช่องนาว เรตติ้ง 0.181
ด้าน นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิตอล ช่อง 8 กล่าวว่า เชื่อว่าภาพรวมการแข่งขันทีวีดิจิตอลในช่วงครึ่งปีหลังจะรุนแรงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องด้วยเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของอุตสาหกรรมโฆษณา ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่วงชิงเม็ดเงินที่กำลังสะพัดมากขึ้น จากครึ่งปีแรกที่ช่อง 8 มีเรตติ้งพุ่ง โดยเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์ ทำให้เชื่อว่า ในครึ่งปีหลังจะยังคงได้เปรียบ และมีเรตติ้งที่ดี เกาะกลุ่มผู้นำทีวีเมืองไทย หลังจากที่มีคอนเทนต์ใหม่ ๆ เข้ามา ทั้งซีรีส์อินเดีย อาทิ พิฆเนศ มหาเทพไอยรา (Vighnaharta Ganesha) และแผนรัก ลวงใจ (ISSPYYAAR KO KYANAMM DOON) , ละครใหม่แกะกล่อง อาทิ รักฉันสวรรค์จัดให้ – ซิ่นลายหงส์ – ดงผู้ดี – บุษบาเปื้อนฝุ่น – มัจจุราชฮอลิเดย์ – สาปกระสือ – ปมรักสลับหัวใจ ฯลฯ , รายการวาไรตี อาทิ ยำข่าว เล่าสด – เจาะประเด็น – 8 มวยไทย ซุปเปอร์แชมป์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจับมือพันธมิตรจัดแคมเปญ “ช่อง 8 ดราม่ามาเต็ม” จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ทั้งการยกทัพดารานักแสดงพบปะแฟนคลับในย่านชุมชน ทั้งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , สีลม , รังสิต ฯลฯ และการจัดบิ๊กอีเวนต์สัญจร อาทิ ช่อง 8 แอด เฟรนด์ ปี 2 , ซุปตาร์ตลาดแตก ออนทัวร์ เป็นต้น
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : thansettakij.com