“กวิน กาญจนพาสน์” ทายาทเจ้าพ่อบีทีเอสเปิดยุทธศาสตร์เทกโอเวอร์อิออน-เคอรี่ ผนึกสหพัฒน์-AIS ขึ้นผู้นำ Big Data ต่อยอดธุรกิจ 4 ขาทั้งรถไฟฟ้า สื่อโฆษณา อสังหาฯ บริการ บริษัทลูก VGI ควักหมื่นล้านในรอบ 3 ปีซื้อกิจการลุยสื่อเอาต์ดอร์-อินดอร์-ไฟแนนซ์-โลจิสติกส์ สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจ รับตลาดอีคอมเมิร์ซบูม
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่บีทีเอสแข็งแกร่งที่สุด มีกระแสเงินสดในมือ 9,458 ล้านบาท โดยมี 4 ธุรกิจในเครือทั้งรถไฟฟ้า สื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ เช่น บัตรแรบบิท แรบบิทไลน์เพย์ นายหน้าประกันภัย มีรายได้รวม (เมษายน 2560-มีนาคม 2561) อยู่ที่ 14,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63.9% กำไรสุทธิ 4,416 ล้านบาท โดยธุรกิจรถไฟฟ้าเป็นรายได้หลัก 9,112 ล้านบาท สื่อโฆษณา 3,902 ล้านบาท อสังหาฯ 639 ล้านบาท และบริการ 449 ล้านบาท
ซื้อโรงแรมยุโรป-บุกมีเดีย
“mass transit เป็นสิ่งที่เชี่ยวชาญตั้งแต่แรกที่ร่วมกับซีเมนส์และบอมบาร์ดิเอร์ ตอนนี้ไม่มีอะไรน่าห่วงเพราะเราทำเป็น สร้างเป็น รถไฟฟ้าบีทีเอสถือว่าเป็นแกนหลัก หรือ backbone สำหรับกรุงเทพฯไปแล้ว ทุกอย่างเริ่มต้นจากรถไฟฟ้าทั้งวีจีไอ บัตรแรบบิท ถ้าไม่มีรถไฟฟ้าก็ไม่มีธุรกิจอื่น ถ้าไม่มีคุณคีรี (คีรี กาญจนพาสน์) ก็ไม่มีบีทีเอส”
ปัจจุบันขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ บมจ.ยู ซิติ้ ที่บีทีเอสถือหุ้น 38% ซื้อโรงแรมในยุโรป, บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ร่วมมือกับพันธมิตรในมาเลเซียตั้งบริษัทย่อย VGI Global Media (Malaysia) Sdn. Bhd. หรือ VGM ซื้อหุ้น 25.1% ในบริษัท Meru Utama Sdn. Bhd. ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาในสนามบิน รวมทั้งในอินโดนีเซียก็ได้สัญญาทำโฆษณา 20 ปี
รถไฟฟ้าปักหมุดในประเทศ
นายกวินขยายความว่า ธุรกิจรถไฟฟ้ายังไม่จำเป็นที่จะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งบีทีเอสเป็นผู้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ เช่น สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต มีระยะทางเพิ่มขึ้น 95.7 กิโลเมตร รวม 78 สถานี หากรวมกับโครงข่ายบีทีเอสเดิมเท่ากับมีระยะทางรวม 132 กิโลเมตร 112 สถานี
“ถ้าบีทีเอสจะต้องออกไปต่างประเทศก็ไปกันเป็นกลุ่ม เพราะไม่อยากให้เสียโอกาส โฆษณาไปก็เอาแรบบิทการ์ดไปด้วย คุยเรื่องรถไฟ เราก็พยายามเอากลุ่มหนึ่งที่เชี่ยวชาญทั้งรถไฟฟ้าและธุรกิจอื่น ๆ ร่วมด้วย และไม่ว่าไปไหนก็แล้วแต่จะบอกเขาว่าเราคือ mass transit solution company เรามีพันธมิตรที่ร่วมกันมานานทั้งซีเมนส์และบอมบาร์ดิเอร์”
ผนึกพันธมิตรลุยธุรกิจใหม่
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ในช่วงครึ่งปีหลังมีบิ๊กดีลทางธุรกิจหรือไม่ นายกวินตอบว่ายังไม่มี โมเดลหลังจากนี้ร่วมเป็นพันธมิตรมากกว่า สนใจในทุกธุรกิจเหมือนที่ร่วมกับแสนสิริ เช่น ธุรกิจไฟแนนซ์ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาบีทีเอสร่วมกับกลุ่มอิออน 50 : 50 ปล่อยเงินกู้ ในอนาคตอาจมีโปรดักต์ใหม่ ๆ ออกมา เช่น ไมโครไฟแนนซ์ หรือ AI เพราะลงทุนไม่มาก
“ไม่คิดว่าจะมีดีลใหญ่ใช้เงินหลาย 1,000 ล้านที่ซื้อกิจการอีก วันนี้พอแล้ว ไม่มีบริษัทไหนทำ M&A ไม่จบไม่สิ้น เวลาในการเทกโอเวอร์หยุดแล้ว จะใช้เงินพัฒนาคน ทำยังไงให้ทุกอย่างที่กินเข้าไปย่อยได้ และทำรายได้ให้มากที่สุด”
“ผมเป็นนักธุรกิจที่ชอบมีพันธมิตรมากกว่าเป็นคนรวยใช้เงินซื้อทุกอย่าง ปรัชญาผมคือ ทุก ๆ ที่ที่ไปร่วมส่วนใหญ่ถือหุ้น 25-30% อะไรที่สำคัญจะถือเกิน50% อะไรที่อยากให้มาช่วยก็ไปด้วยกันไม่ได้ขี้เหนียวมากจนต้องกินทุกอย่างหมด แต่ต้องมีรุกมีรับ”
VGI ลงทุนแล้วหมื่นล้าน
ในส่วนของวีจีไอมีนโยบายเดินหน้าการลงทุนเพิ่ม วางเป้า 5 ปีข้างหน้า (2562-2566) อาจมีกำไรดีกว่าบีทีเอส ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) ใช้เงินลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ซื้อธุรกิจเพื่อเปลี่ยนมุมมองจากบริษัทโฆษณาเป็นบริษัททำ marketing solution ตั้งแต่ซื้อวีจีไอ ทำบัตรแรบบิท ณ วันนี้มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ถือว่าโตเร็วและเลี้ยงตัวเองได้ มีป้ายบิลบอร์ด 2,200 ป้ายป้ายดิจิทัลบน BTS 2,000 จุด ป้าย LED screen 4,000 จุด และสื่อโฆษณาในอาคาร 1,900 สกรีน 3 ปีจากนี้มองว่ารายได้โฆษณาลดลงจึงลงทุนเพิ่มในธุรกิจอื่น เช่น ถือหุ้น 23% มูลค่า 5,900 ล้านบาท ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เพราะโลจิสติกส์โตเร็วกว่า กลยุทธ์เป็นการซินเนอร์ยีแพลตฟอร์มธุรกิจโฆษณาเข้าไปในการซื้อของ-ขายของในออนไลน์
ซื้อเคอรี่ต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์
“Kerry ใช้เวลาเจรจา 3 สัปดาห์เท่านั้น ปัจจุบันผู้บริหารยังไม่เจอหน้ากันเลย คุยกันทางโทรศัพท์ก็จบ ซึ่งต่างประเทศเข้ามาหาเราเยอะมากและสงสัยว่าไปถือหุ้นใน Kerry ได้อย่างไร เพราะ Kerry ถือว่าใหญ่พอสมควร จากดีลนี้ทำให้เราเพิ่มกำลังส่งสินค้าจากเดิมวันละ 1 แสนชิ้น เป็น 8 แสนชิ้นและเป็นบริษัททำรายได้ดีที่สุดในธุรกิจที่ไปซื้อมา มีมูลค่าในตลาด 24,000 ล้านบาท
การนำ Kerry มาตั้งในบีทีเอสอยู่ระหว่างหาทำเล เพราะทุกสถานีมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีผู้ค้ารายอื่นเช่า อีกทั้งส่วนต่อขยายต่าง ๆ ต้องรอเวลาให้จำนวนผู้โดยสารคุ้มที่จะเปิด
ร่วมสหพัฒน์ลุยบิ๊กดาต้า-อสังหา
นอกจากนี้ บีทีเอสได้ทำ MOU กับกลุ่มสหพัฒน์ เป็นพันธมิตรด้าน big data ข้อมูลทางธุรกิจ 8 ด้าน ได้แก่ เพย์เมนต์, การโฆษณาที่เจาะจง, e-Commerce, การแจกของ, สิทธิพิเศษ, วิเคราะห์ข้อมูล,HR และอสังหาริมทรัพย์
ล่าสุดเริ่มจับมือร่วมกัน 2-3 ด้าน คือ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติภายใต้เครือข่ายสหพัฒน์ 10,000 ตู้ทั่วประเทศ สเต็ปต่อไปจะใช้ชำระเงินผ่านบัตรแรบบิทได้ กำลังดำเนินการทางเทคนิคเพื่อให้แต่ละตู้รองรับระบบบัตรแรบบิท ทั้งร่วมมือในส่วนพื้นที่โฆษณางานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งล่าสุดบนรถไฟฟ้า เพราะปีนี้สหพัฒน์ย้ายสถานที่จัดงานจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ไปที่ไบเทค บางนา ซึ่งมีรถไฟฟ้าผ่านพอดี
ส่วนการนำร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน 108″ขึ้นไปไว้บนสถานีบีทีเอสหรือไม่ มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ รวมทั้งมีการเจรจาลงทุนอสังหาฯตามแนวรถไฟฟ้า แต่โมเดลไม่ใช่การลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียมเหมือนกับที่ร่วมทุนกับแสนสิริ แต่เป็นโมเดลลงทุนคอมมิวนิตี้มอลล์หรือโรงแรมเป็นหลัก คาดว่าเริ่มเห็นภายในปี 2562 ในนามบริษัทยู ซิตี้
ก.ย.เปิดตัวแรบบิทไลน์เพย์
นายกวินกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS และ LINE ในการร่วมลงทุนบริการ Rabbit LINE Pay โดย AIS ถือหุ้น 33% LINE 33% ส่วนบีทีเอส และ Keery ถือ 33% โดย AIS ยกเลิก mPAY แล้ว และย้ายสมาชิกทั้งหมดไปอยู่ LINE Pay แทนเนื่องจากมองว่ามีอนาคตกว่า
“ตอนนี้บีทีเอสมีผู้ถือบัตรแรบบิท 8.9 ล้านคน ผู้ถือบัตรแรบบิทไลน์เพย์ 3.5 ล้านคน จะเปิดตัวช่วงกันยายนนี้ เป้าหมายเพื่อนำบีทีเอสไปสู่การเป็นผู้นำด้าน big data เพราะมีทั้งข้อมูลบีทีเอส และ AIS เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในการต่อยอดธุรกิจในอนาคต”
ปีหน้าเชื่อมตั๋วร่วม EMV
ส่วนกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีปัญหาขัดข้องบ่อย นายกวินกล่าวว่า ที่ผ่านมาลงทุนทุกปีเพื่อปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น เช่น ติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นรบกวน ขณะนี้ปัญหาต่าง ๆ ก็คลี่คลายลงแล้ว
“บีทีเอสพร้อมจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อดำเนินการระบบตั๋วร่วม แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบ ซึ่งในปีหน้าบีทีเอสจะลงทุนปรับปรุงระบบบัตรแรบบิทให้รองรับกับระบบตั๋วร่วม EMV ของรัฐบาลที่ประกาศใช้ปลายปี 2562” นายกวินกล่าวตอนท้าย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : prachachat.net