สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ได้เปิดเผยถึงเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของไทยในปี 2561 มีมูลค่า 15,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 21% เมื่อเทียบกับยอดในปี 2560
ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะเติบโตขึ้นทุกปี แต่ควรจะเติบโตได้มากกว่านี้ เนื่องจากการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในต่างประเทศ ครองสัดส่วนถึง 40% ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลควรจะไปถึง 4 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่ยังไม่เติบโตได้ถึงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาขาดแคลนบุคลากร
เมื่อลงรายละเอียดถึงภาพรวมของเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลที่สมาคมฯ ร่วมกับบริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส(ประเทศไทย) พบว่า ครึ่งแรกของปีนี้ทำได้ถึง 6,684 ล้านบาท เกินคาดหมาย จึงมีการประเมินว่า ครึงปีหลังจะทำได้ 8,289 ล้านบาท รวมทั้งปี 15,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้
สาเหตุที่เติบโตมาจาก
- เจ้าของสินค้า มีการใช้ดิจิทัลมีเดียเพื่อสร้างการรับรู้ (Awarnes) และการทำ Perfomance Media ที่สามารถวัดผลได้ เพราะมองว่าสื่อดิจิทัลเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มแมสได้แล้ว
- เม็ดเงินโปรโมชั่นที่เคยใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น การตัดคูปองส่วนลด ถูกเปลี่ยนมาใช้ผ่านออนไลน์มากขึ้น เช่น ใช้ไลน์ส่งคูปอง เซลโปรโมชั่น
- ในขณะที่เจ้าของแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิล มีการสร้างคอนเทนต์ และออกบริการใหม่ๆ เพื่อผลักดันตลาดต่อเนื่อง
- เจ้าของแบรนด์หันมาใช้ “ดาต้า” ในการทำตลาด เพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น ต้องมีการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสาร ยิ่งผลักดันให้การใช้สื่อดิจิทัลมีมากขึ้น
มอเตอร์ไซค์–จักรยานหันมาใช้สื่อดิจิทัล
สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มการสื่อสาร กลุ่มประทินผิว กลุ่มธุรกิจธนาคาร และกลุ่มผลิตภัณฑ์เดลี่โปรดักต์
ในส่วนของสกินแคร์ กลับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 จากปีที่แล้ว (ปี 2560) หล่นจากอันดับ 3 เป็นอันดับ 4 โดยกลุ่มแบงก์ข้ึนมาครองตำแหน่งแทน เนื่องจากธนาคารแข่งขันสูงมาก ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการใช้พรีเซ็นเตอร์ และใช้สื่อโฆษณาสร้างการรับรู้
ปีนี้ (2561) ส่วนสาเหตุที่สกินแคร์กลับมาครองอันดับ 3 เพราะว่าสินค้ามีความหลากหลาย โยกงบโฆษณามาที่สื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น รวมถึงบรรดาเคาน์เตอร์แบรนด์ ลักชัวรีแบรนด์ หันมาใช้สื่อออนไลน์ หลายแบรนด์เปิดช้อปออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ส่วนที่มาแรง คือ มอเตอร์ไซค์ ทั้งในส่วนของแมส และบิ๊กไบค์ รวมถึงจักรยาน ที่ผันตัวมาใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น ในรูปแบบของการผสมผสานระหว่างออนไลน์และสื่อดั้งเดิม
Facebook-YouTube ครองงบโฆษณา 50%
สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็น Facebook และ YouTube ครองสัดส่วนเม็ดเงิน50% ของงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากฐานผู้ใช้จำนวนมาก สามารถเข้าถึงกลุ่มแมสและเฉพาะเจาะจง
เฟซบุ๊ก แข็งแรงขึ้นทุกปี ด้วยฐานผู้ใช้ที่มีจำนวนมาก และมีการออกบริการใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ยิ่งเวลานี้มีออฟฟิศในไทย แบรนด์ส่วนใหญ่นิยมใช้เพื่อสร้างการรับรู้ เข้าถึงคนจำนวนมาก 52 ล้านคน จนทำให้เฟซบุ๊กเองก็ทำตัวเป็น “ช่องทีวี” มากขึ้น ให้ความสำคัญกับครีเอทีฟมากขึ้น เพื่อดึงให้คนอยู่กับแพลตฟอร์ม และการลดออร์แกนิก เพื่อให้คนหันมาซื้อโฆษณามากขึ้น
ส่วนยูทิวบ์เวลานี้ เข้าถึงคนทั่วประเทศ เนื่องจากคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 80% ทำให้การเสพสื่อวิดีโอทำได้มากขึ้น
แม้ว่าการเติบโตของ 2 แพลตฟอร์มนี้จะลดลง เนื่องจากมีฐานที่ใหญ่มาก แต่สามารถสร้างเม็ดเงินเพิ่มถึง 400-500 ล้านบาท สูงกว่าทุกแพลตฟอล์ม
แต่เฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ก็ต้องเผชิญความท้าทายเรื่องการซัพพอร์ตลูกค้ากรณีเกิดปัญหาต้องทำให้เร็วขึ้น และการแข่งขันในการแย่งชิงลูกค้า แบรนด์สินค้า จึงมองหาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะเป็น “บลูโอเชียน” เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ
ทวิตเตอร์ โต 3 เท่า
ทางด้าน ทวิตเตอร์ ทำเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มถง 3 เท่า เนื่องจากยอดผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้น จากฐานเดิมที่มีผู้ใชต่ำ และทวิตเตอร์ยังได้แต่งตัวดีลเลอร์ในไทยมาช่วยผลักดันตลาดทวิเตอร์ นั้นเหมาะสำหรับการทำทาร์เก็ตติ้ง และสร้างกระแสให้คนพูดถึงผ่านทวิตเตอร์เทรนด์
ไลน์ครองเม็ดเงิน 600 ล้านบาท
ไลน์ ยังเติบโตอย่างน่าสน ครองเม็ดเงินโฆษณา 600 ล้านบาทแล้ว เติบโตถึง 83% ด้วยฐานผู้ใช้ 42 ล้าน สามารถเข้าถึงกลุ่มคนหลากหลาย ตั้งแต่เด็กประถมจนถึงคนสูงวัย คนต่างจังหวัดใช้ไลน์ในการแชต และวิดีโอคอล
ไอจี ใช้ดูรูป–ซื้อเร็ว
สำหรับอินสตาแกรม เป็นแพลตฟอรมที่มีความเฉพาะตัว เพราะคนส่วนใหญ่จะใช้ดูรูปภาพเป็นหลัก แต่ก็ตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว เช่น กลุ่มผู้หญิงที่เลือกซื้อเสื้อผ้า ไอจีจึงเหมาะสำหรับแบรนด์ ที่สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้ได้ด้วย “รูปภาพ” เช่น บิวตี้ ค้าปลีกออนไลน์ รถยนต์ ช่วงหลังไอจีนอกจากจะให้ในเรื่อง inspire ให้ผู้ใช้สนใจสินค้าแล้ว ยังพยายามให้เกิดคอนเวชั่นเพิ่มขึ้นด้วย
ออนไลน์วิดีโอโตทุกปี
แม้ตลาดทีวียังสำคัญ แต่ออนไลนวิดีโอสามารถสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้การทำวิดีโอจะรองรับได้ทั้งออนแอร์และออนไลน์
ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ เองผลักดันให้มีการทำออนไลน์วิดีโอ เพราะสามารถนำมาตัดต่อเพื่อทดสอบได้ว่า ข้อความโฆษณาแบบไหนสร้างความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายได้
แนวโน้มสำคัญ
แนวโน้มการใช้สื่อดิจิทัลเวลานี้ ไม่ใช่แค่การสร้างการรับรู้ หรือการสร้าง engage เท่านั้น แต่นำไปสู่การซื้อขายขึ้นจริง และการทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น ซึ่งช้อปปิ้งออนไลน์ส่งผลให้เม็ดเงินสื่อดิจิทัลเพิ่มตาม ทำให้แพลตฟอร์มจึงพัฒนาบริการให้ตอบสนองกับอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น
ส่วน ดาต้าอนาลินิก จะสำคัญสำหรับธุรกิจ มีการนำข้อมูลการตลาด พฤติกรรมลูกค้า เพื่อนำมาใช้พัฒนาสินค้าและบริการ สร้างจุดขายเฉพาะตัวแตกต่างจากคู่แข่ง
ดังนั้นทุกแบรนด์จึงควรสะสมข้อมูลดาต้ากำหนดครีเอทีฟระหว่าง ครีเอทีฟหรือคอนเทนต์ อะไรสำคัญ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง คำตอบคือ ดาต้าสามารถกำหนดทิศทางให้กับครีเอทีฟในการสร้างสรรค์งานให้สามารถตอบโจทย์ความชอบของผู้บริโภค
ความท้าทายสำหรับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง คนยังขาดทักษะความรู้เรื่องของดิจิทัล จึงควรอัพเดตความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะบรรดาแพลตฟอร์มจะมีบริการใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา และไม่มีอะไรตายตัว แต่ละแพลตฟอร์มจะเหมาะกับวัตถุประสงค์แตกต่างกัน.
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : positioningmag.com