Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

ระบบนิเวศดิจิทัล ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ระบบนิเวศดิจิทัล ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
January 20, 2019 dhammarong

เหมืองทองของข้อมูลจุดประกายการลงทุนด้านเทคโนโลยีเหมืองทองของข้อมูลจะจุดประกายให้เกิด การตื่นทอง ในการลงทุนด้านเทคโนโลยียุคถัดไป

จากปีที่แล้วเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แมชีนเลิร์นนิง ตลอดจนระบบอัตโนมัติ มีการพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างอย่างต่อเนื่อง รับอานิสงส์ที่องค์กรธุรกิจลงมือสร้างโครงสร้างหลักดิจิทัล (digital backbone) เพื่อรองรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าปีนี้อะไรคือแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น…

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ปี 2562 จะเป็นปีที่ทั้งโลกก้าวสู่ระบบนิเวศดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล อุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะมีความสามารถในการเรียนรู้ความชื่นชอบผู้ใช้ เพื่อนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลในเชิงรุก โดยอิงตามการปฏิสัมพันธ์ที่มีมาก่อนหน้านั้น

ทั้งจะได้เห็นการหลอมรวมการใช้เทคโนโลยีเออาร์ วีอาร์ การนำไปปรับใช้ในสถานที่ทำงาน ความก้าวหน้าในการประมวลผลทางภาษา(Natural Language Processing) และเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียง(Voice Technologies) จะสร้างบทสนทนาเพื่อช่วยให้สื่อสารกับจักรกลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์เอื้อให้การดำเนินงานต่างๆ ทำได้อย่างลื่นไหลและรวดเร็ว

“เหมืองทองของข้อมูลจะจุดประกายให้เกิด การตื่นทอง ในการลงทุนด้านเทคโนโลยียุคถัดไป มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2563 ข้อมูลจะมีปริมาณสูงถึง 44 ล้านล้านกิกะไบต์ หรือ 44 เซตตะไบต์ ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล ในไม่ช้าองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็จะเริ่มนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้ในที่สุดเมื่อการปฏิรูปสู่ดิจิทัลเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง”

อย่างไรก็ดี เมื่อสามารถสร้างคุณค่าจากข้อมูลได้มากขึ้น การมีมุมมองเชิงลึกก็จะช่วยขับเคลื่อนไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ และทำให้กระบวนการทางธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีการลงทุนในภาคเทคโนโลยีมากขึ้น องค์กรสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ใหญ่ขึ้น ในการทำให้เอไอเป็นจริงขึ้นมาได้ ทั้งการบริหารจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลรวมซึ่งจะให้มุมมองเชิงลึกที่มาจากระบบเสมือนต่างๆ

+++5จีเปลี่ยนโฉมการแข่งขัน

ผู้บริหารเดลล์ประเมินว่า อุปกรณ์ชิ้นแรกๆ ที่รองรับเทคโนโลยี 5จี จะออกสู่ตลาดช่วงปีหน้า โดยมาพร้อมความสามารถในการรองรับเครือข่ายรุ่นถัดไป ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของเกมการแข่งขันด้านข้อมูลอย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่องของความเร็ว และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล

เนื่องจากเครือข่ายที่ให้แบนด์วิดธ์สูง ความหน่วงต่ำ ช่วยให้เชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ หรือระบบงานต่างๆ ทั้งยังอัดแน่นไปด้วยเอไอ แมชีนเลิร์นนิ่ง และระบบประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้นที่ปลายทาง อันเป็นจุดที่ข้อมูลทั้งหลายถูกสร้างขึ้น

“อีกไม่นานเกินรอ จะเริ่มเห็น ไมโคร-ฮับ (micro-hubs) เรียงรายอยู่ตามถนน หรืออาจจะได้เห็น ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดเล็ก (mini datacenters) ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ สำหรับการสร้างข้อมูลเชิงลึกในแบบเรียลไทม์”

นอกจากนี้ เมืองต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กจะสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้มากกว่าที่เคยเป็นมา เป็นการปูทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และระบบโครงสร้างดิจิทัลที่เดลล์คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตและขยายตัวในปี 2573

“เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าเกมการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การผลิต ที่ทั้งดาต้าและข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นจะถูกประมวลผลและวิเคราะห์ได้แบบเรียลไทม์”

+++ดึงคลาวด์เสริมพลังไอที

จากปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์ถึงการมาของเมกะคลาวด์(Mega Cloud) ซึ่งเป็นการนำคลาวด์หลากหลายรูปแบบมาทำงานงานร่วมกันเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานที่ทรงพลัง เนื่องจากนโยบายด้านไอทีต้องการการทำงานของทั้งไพรเวท คลาวด์ และพับบลิค คลาวด์ร่วมกัน จนกระทั่งถึงตอนนี้ ประเด็นการโต้เถียงที่เปรียบเทียบพับบลิค คลาวด์ กับไพรเวท คลาวด์ เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

เนื่องจากองค์กรธุรกิจเข้าใจดีว่าพวกเขาจำเป็นต้องบริหารจัดการประเภทของข้อมูลทั้งหมดที่แตกต่างกันเพื่อการประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการสำรวจของไอดีซีชี้ให้เห็นว่า เกิน 80% ของผู้ที่ตอบการสำรวจ มีการส่งข้อมูลกลับมาที่ไพรเวท คลาวด์ซึ่งอยู่ในองค์กร และคาดว่าแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเติบโตของพับบลิค คลาวด์ก็ตาม

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมแบบมัลติ-คลาวด์ ยังช่วยขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการประมวลผลของทั้งเอไอและเอ็มแอล ด้วยความเร็วสูง เนื่องด้วยตัวเทคโนโลยีมอบความสามารถให้กับองค์กรธุรกิจในการจัดการ การเคลื่อนย้ายและการประมวลผลข้อมูลได้ทุกที่และทุกเวลาที่ต้องการ จะได้เห็นคลาวด์เกิดขึ้นจำนวนมาก

ผลการสำรวจดัชนีการปฏิรูปสู่ดิจิทัลชี้ว่า มีการระบุอย่างชัดเจนว่า 63% ขององค์กรธุรกิจในไทยมีความตั้งใจที่จะลงทุนเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในแบบมัลติ-คลาวด์ ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างขุมพลังและเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรในการปฏิรูปรูปแบบการดำเนินธุรกิจ(business transformation) อย่างมีประสิทธิภาพ

+++เจนแซดตบเท้าสู่การทำงาน

กลุ่มคนเจนแซด(Gen Z) หรือผู้ที่เกิดหลังปี 2538 กำลังจะก้าวสู่การทำงานภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่งผลทำให้มีคนทำงานที่แตกต่างกันถึง 5 รุ่น ประเด็นนี้จะก่อให้เกิดประสบการณ์ในการใช้ชีวิต และการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันอย่างมาก

สำหรับประเทศไทย ผลการสำรวจ “เจน แซด รีเสิร์ช” โดย เดลล์ เทคโนโลยีส์ ระบุว่า 97% ของชาวเจนแซดในไทย ต้องการที่จะทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด มากกว่า 4 ใน 10 ให้ความสนใจในการทำงานด้านไอที ที่รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ ที่น่าสนใจ 64% เชื่อว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานร่วมกันเสมือนเป็นทีมเดียวกัน(Human-Machine Partnership) ในอนาคตอันใกล้

อีกเทรนด์ที่น่าจับตามอง จะได้เห็นความก้าวหน้าด้านซัพพลายเชนที่สามารถติดตามผลได้ ด้วยการวิเคราะห์ และควบคุมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อระบุโอกาสที่แม่นยำในการแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง บล็อกเชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการจัดหาสินค้าหรือบริการ พร้อมกับรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและการบริการควบคู่กันไป

“ไม่มีช่วงเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้วในเรื่องของเทคโนโลยี ด้วยนวัตกรรมในยุค 5จี เอไอ แมชีนเลิร์นนิ่ง คลาวด์ รวมถึงบล็อกเชน ผมขอเดิมพันว่าเราจะนำข้อมูลจำนวน 44 เซ็ตตะไบต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ในปี 2563 จะปลดล็อคขุมพลังของข้อมูลในแบบที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เพื่อปฏิรูปการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต ฉะนั้นจงเตรียมพร้อมให้ดีเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลังบนยุคของข้อมูล”

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : bangkokbiznews.com