BMN ทุ่ม 120 ล้านปรับปรุงพื้นที่รีเทล สถานี MRT ปรับลุคสนองไลฟ์สไตล์คนเมือง เปิดโฉมใหม่เมโทรมอลล์ “MRT สวนจตุจักร” พร้อมลุยพัฒนาสถานีอิสรภาพ สีน้ำเงินต่อขยาย กว่า 2 พัน ตร.ม. ธุรกิจสดใส เป้าปี 62 รายได้ 759 ล้าน มีกำไร 85 ล้านบาท เติบโตถึง 50%
นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือบีเอ็มเอ็น เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT โดยมีการเปิดเมโทร มอลล์ไปแล้ว 9 สถานี คือ สุขุมวิท, พระราม 9, จตุจักร, พหลโยธิน, กำแพงเพชร, คลองเตย, ศูนย์วัฒนธรรมฯ, ลาดพร้าว, สถานีเพชรบุรี โดยจะเปิดให้ครบ 11 สถานี อยู่ระหว่างศึกษา คือ รัชดา, ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โดยล่าสุดได้เปิดเมโทร มอลล์ สถานีรถไฟฟ้า MRT สวนจตุจักร โฉมใหม่ ใช้งบลงทุน 30 ล้านบาทปรับปรุงพื้นที่ และพัฒนาบริการ ร้านค้าที่ตอบโจทย์ผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกในการเดินทางที่เร่งด่วน จำนวนกว่า 40 ร้านค้า บนพื้นที่กว่า 2,000 ตร.ม.
ปัจจุบันมีผู้โดยสารผ่านเข้าออกสถานีกว่า 4 หมื่นคน/วัน จากผู้โดยสาร MRT ทั้งหมดประมาณ 3.5 แสนคน/วัน และเมื่อเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะมีผู้โดยสารเเข้ามาเพิ่มใน MRT อีกแน่นอน
ในปี 2562 บริษัทฯ จะมีการลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท แบ่งเป็นในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT ปัจจุบันและส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ที่จะเปิดในเดือน ก.ย. 2562 เช่น ปรับปรุงพื้นที่ร้านค้า สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ประมาณ 80 ล้านบาท ธุรกิจเพิ่มเติมจากกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 40 ล้านบาท นอกจากนี้ ทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้ตั้งงบประมาณเพิ่มเติมอีก 370 ล้านบาทในการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อให้บริการมือถือบนคลื่น 3G และ 4G ได้ตลอดสาย แบ่งเป็นการอัปเกรดในระบบรถไฟฟ้า MRT เดิม 181 สถานีกว่า 200 ล้านบาท สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเฟสแรก ใต้ดิน 4 สถานี 167 ล้านบาท
ส่วนในไตรมาส 4/2562 จะปรับปรุงพื้นที่รีเทลของสถานีพหลโยธินเสร็จและเปิดตัว และอยู่ระหว่างศึกษาสำรวจเพื่อพัฒนาสถานีอิสรภาพของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งมีพื้นที่รีเทลกว่า 2,000 ตร.ม. โดยช่วงแรกจะทำในส่วนของสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ก่อน และจะประเมินปริมาณผู้โดยสาร และกิจกรรมรอบสถานีระยะหนึ่ง คาดว่าจะเริ่มพัฒนารีเทลได้ในปี 2563
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายนั้นจะเปิดช่วงแรกจากหัวลำโพง-หลักสอง เดือน ก.ย. 2563 มีสถานีใต้ดิน 4 สถานี ลอยฟ้า 7 สถานี ช่วงเตาปูน-ท่าพระ เปิดเดินรถเดือน มี.ค. 2563 เป็นสถานีลอยฟ้า 8 สถานี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 คน/วัน และยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณมอเตอร์เวย์ หรือทางด่วน นอกเหนือจากในระบบรถไฟฟ้าอีกด้วย
ทั้งนี้ ตั้งเป้ารายได้ในปี 2562 ไว้ที่ 759 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ที่มีรายได้ 634 ล้านบาท ประมาณ 20% ขณะที่คาดว่าจะมีกำไรปี 2562 ประมาณ 85 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ที่มีกำไร 53 ล้านบาท หรือโต 50% จากปัจจัยหลักการเปิดเมโทรมอลล์ที่สถานีจตุจักร, ลาดพร้าว และรายได้บางส่วนจากส่วนต่อขยายกับการพัฒนาจากกิจกรรมที่มีขอบเขตมากขึ้น
“ตอนนี้รอความชัดเจนเรื่องการพัฒนาสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งได้ศึกษาสำรวจความต้องการไว้แล้ว หาก รฟม.จะเปิดให้ประมูลหรือวิธีการใด บริษัทฯ พร้อมเข้าร่วม”
***ปรับลุค “MRT จตุจักร” ศูนย์กลางเดินทางและแหล่งชอปปิ้ง
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า สำหรับ “เมโทร มอลล์ สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สวนจตุจักร” ได้ปรับปรุงตั้งแต่ปีที่แล้ว และเปิดโฉมใหม่ภายใต้สโลแกน “The Happy Hub of MRT” ชูคอนเซ็ปต์ “Good Food, Good Mood, Choose Happy” พลิกโฉมครั้งใหญ่สู่การเป็น Dynamic Lifestyle Platform พื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่ไม่หยุดนิ่งอย่างเต็มรูปแบบ ปรับส่วนผสมร้านค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บริการและนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุมและลงตัว สอดรับศักยภาพทำเลศูนย์กลางการคมนาคมและแหล่งชอปปิ้งที่มีปริมาณผู้คนสัญจรสูงสุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
จากการที่ได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้ที่มาใช้บริการเมโทร มอลล์ และผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงพนักงานบริษัท ต่างชื่นชอบและอยากให้เมโทร มอลล์แห่งนี้มีร้านค้าที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบและสะดวกสบาย โดยได้ทำการปรับปรุงทั้งด้านดีไซน์และโครงสร้างภายใต้คอนเซ็ปต์ “Minimal and Modern” มีการใช้ลวดลายกราฟิกที่สนุกสนาน
สำหรับร้านค้าปลีกให้เช่ากว่า 2,000 ตร.ม. ขณะเดียวกัน ยังจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการพบปะ และพักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้สัญจรไปมาอย่างกว้างขวาง เป็นอีกหนึ่ง Meeting Point ที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งห้องน้ำ Free Wi-Fi ปลั๊กไฟ และลานจอดรถขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้สัญจรไปมาในสถานีสวนจตุจักรที่มีมากถึง 19,000 คนต่อวัน
นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัดหรือบีเอ็มเอ็น
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : mgronline.com