Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

“5 บิ๊กเทรนด์” การตลาด-โฆษณาดิจิทัล ปี 2019

“5 บิ๊กเทรนด์” การตลาด-โฆษณาดิจิทัล ปี 2019
April 21, 2019 dhammarong

ในโลกยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ พร้อมยกระดับประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ในปี 2019 มี 5 เทรนด์เทคโนโลยีและดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ที่ธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญและนำมาใช้สร้างโอกาสทางธุรกิจ

1. บิ๊กดาต้าโอกาสธุรกิจ

ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วนกว่า 82% ของประชากร ใช้เวลากับออนไลน์วันละ 10 ชั่วโมง รูปแบบการเสพสื่อและคอนเทนต์กระจายตัว (Fragmentation) ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบ “ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้” อีกทั้งสกิลการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเมืองหรือท้องถิ่นเรียกได้ว่า “ไม่แตกต่างกัน”โดย “มือถือ” เป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้บริโภคใช้เวลาและให้ความสนใจมากที่สุด พบว่าแต่ละคนจะหยิบมือถือมาเช็กความเคลื่อนไหวต่างๆ เฉลี่ยวันละ 80 ครั้ง แต่หากเป็นเด็กรุ่นใหม่ จะเช็กมือถือเฉลี่ย 250 ครั้งต่อวัน

กลยุทธ์การสื่อสารและการทำตลาดของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ วันนี้ต้องปรับตัว ทำความเข้าใจและเริ่มเก็บข้อมูลลูกค้าจากการใช้งานผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อนำ “ดาต้า” มาใช้ประโยชน์ และก้าวสู่ Digital Transformation ได้อย่างมีประสิทธิภาพการทำ “การค้า” ในโลกยุคใหม่ “ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค” ถือเป็นขุมทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ พร้อมสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจในยุคนี้ “บิ๊กดาต้า” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ “ธุรกิจ” เข้าถึงผู้บริโภคแบบรายบุคคลอย่างแม่นยำตามความสนใจในโลกออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ จะใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือการนำ “ดาต้า” มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องบอกว่า “ในยุคนี้ใครมีดาต้ามากที่สุด จะสามารถสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจเหนือคู่แข่งขันได้”  

2. AI จับลูกค้าให้อยู่หมัด

ภาพจาก pixabay

 

ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ในไทย ต้องเรียกว่าเป็น “ดาวรุ่ง” เติบโต 10 – 20% ต่อปี และเห็นแนวโน้มการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนในตลาดค้าปลีกต่ำอยู่ที่ 2% เท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ สัดส่วนอยู่ที่ 10 – 15% นั่นเท่ากับว่าอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกสูงแต่ในยุคที่ทุกคนมุ่งสู่อีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้สนามการค้าแข่งขันกันดุเดือด การทำธุรกิจจึงต้องมีความแม่นยำมากขึ้น ในยุคนี้จึงมีการนำเทคโนโลยี AI, Machine Learning และ Data Analytics มาช่วยวิเคราะห์ เพื่อทำการตลาดแบบ Personalizationเทคโนโลยี AI จะช่วยศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าว่าสนใจสินค้าประเภทใด เพื่อนำเสนอสินค้าที่เหมาะกับแต่ละคน พร้อมคาดเดาสินค้าที่น่าจะสนใจ ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่อาจยังไม่รู้ตัวว่าต้องการสินค้าประเภทใด แต่เทคโนโลยีจะนำเสนอให้ล่วงหน้า เรียกว่าเป็นการจับลูกค้าให้อยู่หมัด

3. “O2O” สร้างประสบการณ์ผู้บริโภค

เทรนด์ธุรกิจค้าปลีกที่กำลังเกิดในขณะนี้ คือ O2O (ออฟไลน์ทูออนไลน์) หรือ “ออมนิ แชนแนล” เพราะวันนี้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 57 ล้านคน การช้อปออนไลน์ติด 1 ใน 5 กิจกรรมที่ชาวออนไลน์ใช้มากที่สุด ดังนั้นช่องทางการขายสินค้าหากโฟกัส “หน้าร้าน” อย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป

อีกทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ใช่โลกที่แตกต่างในตลาดค้าปลีก แต่เป็นโลกเดียวกัน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ ยังซื้อสินค้าผ่านทั้ง 2 ช่องทาง

ช่องทางออฟไลน์ เป็นพื้นที่ของนักช้อปที่อาจยังไม่สบายใจกับการช้อปปิ้ง ออนไลน์ และยังต้องการจับต้องและสัมผัสสินค้า ส่วนช่องทางออนไลน์ คือความสะดวกและรวดเร็ว การผสมผสานทั้ง 2 ช่องทางคือการตอบโจทย์ Experience และความสะดวก ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อผ่าน “ช่องทาง” ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยทั้งออฟไลน์และออนไลน์

4. อินฟลูเอนเซอร์ – KOL ยังแรง

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัลที่ถาโถมผู้บริโภคจำนวนมากในแต่ละวัน แต่พฤติกรรมของคนในยุคนี้กลับเลือกที่จะเชื่อ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ KOL (Key Opinion Leader) ที่ถือเป็น “เกตเวย์” เชื่อมต่อกับผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่ม Micro Influencer หรือ Nano Influencer แม้ผู้ติดตามไม่มาก แต่ความน่าเชื่อถือมาเต็ม เพราะจัดเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและใช้จริงแม้จะเป็นเทรนด์การตลาดที่แบรนด์ต่างๆ นำมาใช้เป็น “เครื่องมือ” เข้าถึงผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่ยังถือเป็นเทรนด์ที่มาแรงและได้รับความสนใจในปีนี้ที่นักการตลาดยังใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สื่อสารเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค และต้องบอกว่าเทรนด์ KOL หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ยังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากจำนวนของ “ผู้มีอิทธิพล” ก็มากขึ้นตามการเติบโตตามยุคดิจิทัลเช่นกัน ปัจจุบันต้องเรียกว่ามีอินฟลูเอนเซอร์ หรือ KOL ล้นตลาด”

ดังนั้นการใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือ KOL จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านใด เพราะยุคนี้ Communication Journey มีความซับซ้อนมาก ดังนั้นหากไม่กำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน อาจเกิดความซับซ้อนด้านการสื่อสารจากการใช้อินฟลูเอนเซอร์และ KOL ได้

ประเด็นที่สำคัญต้องมีความชัดเจน ว่าต้องการใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือ KOL ด้วยโจทย์ใด รวมทั้งระยะเวลาของแคมเปญควรจะต้องยาวพอสมควร ไม่ใช่แค่โพสต์ 1 โพสต์และจบ เพราะผู้บริโภคที่เห็นโพสต์เพียงครั้งเดียว ไม่ได้เชื่อและซื้อสินค้าทันที

อีกทั้งต้องทำความเข้าใจบุคลิกของแต่ละบุคคล ทั้งคาแร็กเตอร์และคอนเทนต์ที่ต้องเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของอินฟลูเอนเซอร์ และ KOL คนนั้นๆ เพื่อนำสินค้าเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ซึ่งจะช่วยสร้าง Engagement กับผู้บริโภค รวมทั้งสาวกของอินฟลูเอนเซอร์ หรือ KOL ได้ดี และทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ

5. พลาดไม่ได้กับกลยุทธ์ Collaboration

ต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์กันเลยทีเดียวในปีนี้กับ Marketing Collaboration” ที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ลุกขึ้นมาจับมือทำการตลาดและพัฒนาสินค้า “ร่วมกัน”ปรากฏการณ์ Collaboration หรือ กลยุทธ์ X” เพื่อร่วมกันสร้างแบรนด์และยอดขาย แลกฐานลูกค้าระหว่างกัน ทั้งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันและต่างธุรกิจ ปีนี้มีให้เห็นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “อาหาร” ที่จับคู่ X พัฒนาสินค้าและรสชาติที่แตกต่าง หรือในกลุ่มแฟชั่นที่ใช้ความเก๋าของแบรนด์มาครีเอทคอลเลกชั่นใหม่ๆ สร้างดีมานด์ดึงเงินในกระเป๋าผู้บริโภคภายใต้กลยุทธ์ X สิ่งที่แบรนด์จะได้มานอกเหนือจากการเพิ่มฐานลูกค้าระหว่างแบรนด์ที่เข้าไปจับมือ เพิ่ม Brand Awareness – Brand Value – Brand Perception แต่ที่สำคัญที่สุดสามารถนำแนวคิดและโนว์ฮาวของแบรนด์นั้นๆ มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับต่อยอดเกมการตลาดได้อย่างมีสีสัน

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : positioningmag.com