จับตาครึ่งปีหลัง “อุตสาหกรรมสื่อ” ดิ้นสู้ วิ่งสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ นีลเส็น เผยบิลลิ่งโฆษณา 5 เดือนติดลบ 1.25% ขณะที่ครึ่งปีหลังยังไร้ปัจจัยบวก
ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทยฯ ที่พบว่า มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 41,651 ล้านบาท ติดลบจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน 1.25% มูลค่าอยู่ที่ 42,177 ล้านบาท แบ่งเป็น สื่อโทรทัศน์ 27,150 ล้านบาท เติบโต 0.87% ทีวีดาวเทียม 901 ล้านบาท ติดลบ 11.67% วิทยุ 1,758 ล้านบาท ติดลบ 4.87 % หนังสือพิมพ์ 1,990 ล้านบาท ติดลบ 16.67 % นิตยสาร 423 ล้านบาท ติดลบ 22.95 % โรงภาพยนตร์ 3,055 ล้านบาท ติดลบ 3.75 % สื่อนอกบ้าน 2,762 ล้านบาท เติบโต 0.18% สื่อเคลื่อนที่ 2,596 ล้านบาท เติบโต 5.49% อินสโตร์ 417 ล้านบาท ติดลบ 2.80% และ อินเตอร์เน็ต 599 ล้านบาท และหากดูเป็นรายเดือนจะพบว่า ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมมีการเติบโตลดลง 2 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่ในครึ่ง ปีหลังยังไร้ปัจจัย ที่จะมาผลักดันให้ทั้งอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น
ทีวีเปิดศึกชิงเรตติ้ง
อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะลึกเข้าไปดูภาพรวมของสื่อ จะพบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอันดับ 1 แต่หลังจากนี้คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องยื่นขอคืนใบอนุญาตแล้ว สถานีโทรทัศน์ที่เหลือ อยู่จะเดินเกมอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ชัดจากนี้ไปสถานีโทรทัศน์จะแข่งขันดุเดือดเพื่อเรียกเรตติ้งช่องทีวีของตัวเองกลับมารั้ง TOP 10 อย่างแน่นอน เพราะหากย้อนดูใน ระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 1 เดือนหลัง จากประกาศคืนช่อง ทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ต่างเร่งปรับกลยุทธ์เดินเกมใหม่โดยเฉพาะการปรับผังและการนำคอนเทนต์จากช่องทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉพาะ ช่อง 3 ที่หลังจากประกาศคืน 2 ช่อง เพื่อหวังพลิกฟื้นกำไรและการได้ผู้บริหารอย่าง “บี๋-อริยะ พนมยงค์” เข้ามานั่งแท่นผู้บริหารจะทำให้เป้าหมายเป็นตามที่คาดการณ์หรือไม่
ขณะที่ในมุมของสื่อทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาติดลบ เนื่องจากปัจจุบันตลาดนี้ไม่ได้หวังรายได้จากค่าโฆษณาเช่นเดียวกับธุรกิจทีวีดิจิทัล แต่เป็นการหวังรายได้จากการเก็บค่าบริการสมาชิกมาก กว่า และในช่วงที่ผ่านมาสื่อทีวีดาว เทียมและเคเบิลทีวียังต้องเจอกับผลกระทบของสื่ออินเตอร์เน็ตที่มาในรูปแบบ IPTV และ OTT เพิ่มเติมส่งผลให้ธุรกิจนี้ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กที่ขณะนี้ต่างทยอยขายกิจการให้กับเคเบิลรายใหญ่จำนวนมาก
ทรูคว้า EPL เกมเปลี่ยน
แต่ล่าสุด ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป ได้กลับมาคว้าลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ลีกอังกฤษ (EPL) ฤดูกาล 2019/20-2021/22 อีกทั้งพร้อมทั้งวางแผนถ่ายทอดสด รีรัน และ ไฮไลต์ ครบทั้ง 380 แมตช์ รวมทั้งเตรียมนำคอนเทนต์ ถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ กลุ่มทรู เช่น ทรูวิชั่นส์ ทรูมูฟเอช ทรูออนไลน์ และทรูไอดี งานนี้เกม เปลี่ยนแน่ เพราะนอกจากทรูจะกลับมากวาดเรตติ้ง ยังเตรียม โกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่แค่ผ่านช่องเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกิจกรรมออนกราวด์ ออฟไลน์ และออนไลน์ด้วย
วิทยุปรับแผนรุกสมาร์ทโฟน
ขณะที่ด้านสื่อวิทยุในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจาก Disruption และ Transformation เช่นเดียวกัน และยังคงมีตัวเลขโฆษณาติดลบก็ตาม แต่ในปัจจุบันดูทีท่าว่าผลกระทบดังกล่าวจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง เนื่องจากที่ผ่านมาสถานีวิทยุหลายค่ายเริ่มหันมาปรับตัวทันตามเทคโนโลยีกลับมาทำให้สื่ออย่างวิทยุเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้สะดวกมากขึ้น โดยการเปลี่ยน Devices จากเครื่องรับวิทยุสู่สมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
นายสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากนี้ไปบริษัทเตรียมเดินไปสู่โมเดลธุรกิจ A-Time Media Solutions 360 องศาที่เป็นมากกว่าวิทยุ พร้อมเดินหน้าด้วยความแข็งแกร่งของตัวเลขสถิติคนฟังที่มีอยู่ในมือมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากบริษัทมองว่าอยู่ในยุค digital transformation ที่สร้าง online platform มารองรับไลฟ์สไตล์คนฟัง เราปรับตัวสู่เว็บไซต์ สมาร์ทโฟน แอพ พลิเคชันบนมือถือ และผลิตคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะในโซเชียล มีเดีย อย่าง facebook, youtube เป็นต้น หรือในส่วนของโชว์บิซ หรือ Festival Event ก็ตาม
“สำหรับแผนครึ่งปีหลังเรายังเน้นหนักที่การพัฒนาคอนเทนต์ซึ่งเป็น key to success ของเอ-ไทม์ มีเดีย ตลอดมา โดยเฉพาะ unique content จากวิทยุซึ่งสร้าง Community ของแฟนราย การที่แข็งแรงมาต่อยอดเป็นคอนเทนท์ต่างๆ ทั้ง รายการโทรทัศน์ ละคร คอนเสิร์ต อีเวนต์ เช่น แฉข่าวเช้า, Club Friday, จันทร์ช็อคโลก และพุธทอล์คพุธโทร ปีที่ผ่านมาได้รับรางวัล และกล่าวถึงมาก มาย รายการเหล่านี้มียอดวิว รวมสูงถึง 200 ล้านวิว ก็กำลัง จะต่อยอดไปสู่รูปแบบ Online Exclusive Content ต่างๆ คาดว่าปลายปีนี้จะได้เห็นกัน”
พลิกสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
ย้อนไปสำรวจภาพรวมตลาดสิ่งพิมพ์ที่ผ่านมาเกิดการปิดตัวไปในหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารก็ตาม ขณะที่บางรายที่ยังคงอยู่ได้ก็ต้องสู่ไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และล่าสุดอมรินทร์พริ้นติ้ง ได้ต่อยอดธุรกิจจากสิ่งพิมพ์ไปสู่ออนไลน์ พร้อมทั้งเปิดตัวเว็บไซต์ Mareads.com ใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้นักเขียนและผู้อ่านนิยายบนออนไลน์ได้แสดงความสามารถ รวม ถึงเพิ่มความสะดวกสบายตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่
นายองอาจ จิระอร ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ กล่าวว่า จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในยุคดิจิทัลทางบริษัทจึงใช้โอกาสนี้ต่อยอดธุรกิจ เปิดตัวเว็บไซต์ Mareads.com แหล่งรวมช่องทางออนไลน์สำหรับผู้เขียนและผู้อ่านแห่งใหม่ ผู้เขียนหรือผู้อ่านสามารถพิมพ์ Print on Demand ได้เลย ล่าสุดมีจำนวนนิยายมากกว่า 800 เรื่อง มีผู้อ่านหลักแสนคนต่อเดือนแต่คาดว่าจะเติบโตเป็นหลักล้านต่อเดือนได้ในอนาคต โดยกลุ่มนิยายที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือหมวด Boy’s Love หรือกลุ่มนิยายวายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันสื่อที่น่าจับตามองและยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ยังคงหนีไม่พ้น สื่อนอกบ้าน สื่อเคลื่อนที่และสื่อออนไลน์ เนื่องจากสื่อดังกล่าวเป็นสื่อที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน และให้ความสำคัญกับการเสพสื่อผ่านโลกสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : thansettakij.com