Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

ส่องอนาคตธุรกิจ “บีทีเอส” เป็นมากกว่าสาธารณูปโภค

ส่องอนาคตธุรกิจ “บีทีเอส” เป็นมากกว่าสาธารณูปโภค
September 8, 2019 dhammarong

“บีทีเอส” กับการปรับเปลี่ยนสู่บริษัทสาธารณูปโภค ผ่านรูปแบบ “โฮลดิ้ง คอมปานี” หลังเดินงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานรัฐผ่านกิจการร่วมค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีกด้านรุกไม่หยุดกับธุรกิจสื่อโฆษณา, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ หลังสัดส่วนรายได้เดินรถไฟฟ้าเป็นแค่หนึ่งองค์ประกอบ หลายฝ่ายคาดผลักดันผลประกอบการ และราคาหุ้นขยับต่อเนื่อง

ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาความแรงของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ (BTS) ไม่มีอะไรฉุดอยู่จริงๆ ทำให้ปัจจุบันหุ้น BTS กลายเป็นอีกหนึ่งหุ้นขวัญใจนักลงทุนที่อยากมีไว้ในพอร์ต ขณะเดียวกัน จากแผนธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ธุรกิจรถไฟฟ้า เมื่อบริษัทตัดสินใจลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถไฟฟ้าซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบริษัท ทำให้หลายฝ่ายมองว่า BTS กำลังส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งเพื่อขยับองค์กรให้มีความยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้เหมือนกับชื่อของบริษัทที่ลงท้ายว่า “โฮลดิ้งส์” อย่างแท้จริง

ในช่วงปี 2561 ข้อมูลของบริษัทระบุว่ากว่า 41% ของรายได้หลักมาจากธุรกิจการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่และติดตั้งระบบเพื่อจะรองรับเส้นทางส่วนต่อขยาย ถัดมาสัดส่วน 16% มาจากธุรกิจโฆษณาบนระบบขนส่งมวลชน ตั้งแต่ป้ายโฆษณาบนสถานี สติกเกอร์หุ้มขบวน และทีวีในรถไฟฟ้า และอีก 13% มาจากการให้บริการเดินรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ อีก 7% มาจากธุรกิจโฆษณากลางแจ้ง อาทิ โฆษณาบนบิลบอร์ดและจอแอลซีดีกลางแจ้ง ถัดมาคือกำไรจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF ในสัดส่วน 7% รวมถึงยังมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และอื่นๆ 4% สุดท้ายอีก 12% เป็นรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า รายได้ที่ไหลเข้าสู่ BTS มาจากหลากหลายธุรกิจไม่ใช่รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายต่อหลายคนเข้าใจ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนมาจากการลงทุนของ BTS ที่แตกไลน์ไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การร่วมมือกับเครือสหพัฒน์เปิดร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน (Lawson)” บนสถานีรถไฟฟ้าซึ่งมีแผนที่จะเปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งหมด 30 สถานี หรือการลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น

รวมถึงการทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านธุรกิจโฆษณาแบบหลากหลายในช่องท่างต่างๆ เช่น การใช้เงิน 5.9 พันล้านบาทซื้อหุ้น 23% ของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (Kerry Express) ซึ่งมีการขนส่งสินค้าและพัสดุกว่า 1.2 ล้านชิ้น/วัน, การซึ้อหุ้นของบริษัท ทรานส์.แอด โซลูชั่น จำกัด (Trans.Ad) ผู้ให้บริการด้านระบบแสดงสื่อมัลติมีเดียในสัดส่วน 81.65%, การร่วมทุนกับ Anymild ในการตั้งบริษัทที่ทำเกี่ยวกับสื่อโฆษณาที่ใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI), การใช้เงิน 4.62 พันล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 18.6% ใน บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) อีกหนึ่งผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้านรายใหญ่, การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ iClick ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์และเทคโนโลยีฐานข้อมูลรายใหญ่ของจีน

ไม่เพียงเท่านี้ ในด้านธุรกิจบริการ Rabbit LINE Pay บริษัทได้ให้บริการทางการเงินร่วมกับ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 1.6 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่าน บมจ.ยู ซิตี้ (U) และพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ อาทิ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ซึ่งน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากโครงการอสังหาริมทรัพย์มีกำไรขั้นต้นดีขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรมในยุโรปเริ่มมีกำไร และการขายคอนโดมิเนียมที่ร่วมลงทุนกำลังสร้างผลตอบแทนกลับคืน

จากข้อมูลดังกล่าว เราพบสัญญาณว่า BTS กำลังกระจายความเสี่ยงธุรกิจผ่านการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อยกสถานะบริษัทให้กลายเป็น “โฮลดิ้ง คอมปานี” เต็มรูปแบบ ไม่ใช่เพียงธุรกิจระบบขนส่งทางรางเพียงอย่างเดียว และสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการมุ่งขยายธุรกิจสื่อของบริษัท ภายใต้การนำของเรือธงในด้านนี้ คือ บมจ. วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเข้าไปลงทุนใน บมจ. มาสเตอร์ แอด (MACO) เพราะมีการผสมผสานธุรกิจออกมาได้อย่างตอบโจทย์

ล่าสุดบริษัทเพิ่งเข้าถือหุ้น 7% ใน บมจ.อาร์เอส (RS) หรือคิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากบริษัทมีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจกับ RS ได้เป็นอย่างดี นั่นคือแพลตฟอร์มการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันให้บริการผู้โดยสารถึงเกือบ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน ขณะที่ RS ได้โฟกัสในธุรกิจมัลติแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซที่สามารถเข้าถึงลูกค้ากว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งตอบโจทย์ด้วยยอดขายสินค้ากว่า 2.1 พันล้านบาท /ปี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรให้เครดิตต่อ BTS นั่นคือการแสวงหาหนทางลงทุนรูปแบบใหม่ที่ไม่หยุดนิ่งของบริษัท โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะบริษัทรู้ดีว่าธุรกิจการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่และติดตั้งระบบเพื่อจะรองรับเส้นทางส่วนต่อขยายที่คิดเป็น 41% ของรายได้ทั้งหมดนั้นมีวันยุติลง และหาก BTS ไม่ลงทุนอื่นๆเพิ่มเติม หรือหยุดเพื่อรอกินบุญเก่าที่สะสมมา ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันราคาหุ้น BTS ในอนาคตให้หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นทำให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านธุรกิจสื่อโฆษณา รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ที่สำคัญสุด คือการแสวงหางานโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อที่จะนำมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนผลประกอบการให้เดินหน้าขยายตัวไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งเพื่อผลักดันให้ BTS กลายเป็นบริษัทสาธารณูปโภครายใหญ่ของประเทศอีกแห่งหนึ่ง

โดยสัญญาณของเรื่องดังกล่าวเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนจากการตัดสินใจร่วมมือกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ก่อตั้งตัวแทนกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เข้าแข่งขันการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท แม้ท้ายสุดจะพลาดโอกาสดังกล่าวก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวได้ส่งสัญญาณว่า BTS พร้อมแล้วกับการก้าวมาการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสาธารณูปโภคของประเทศ เพราะในที่สุด หลังจากเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจอีกหนึ่งรายอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และเปลี่ยนชื่อเป็น กิจการร่วมค้า BGSR กิจการร่วมค่าดังกล่าวได้ชนะประมูลโครงการการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M 6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M 81) มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาทจากรัฐบาล หลังเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด ซึ่งงานดังกล่าวหลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้ามาสู่ BTS เพิ่มมากขึ้น และจะกลายเป็นรายได้ที่เข้ามาชดเชยในส่วนของธุรกิจการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่และติดตั้งระบบเพื่อรองรับเส้นทางส่วนต่อขยายที่จะลดลง จนกว่าจะได้งานในเส้นทางใหม่ๆ นั่นทำให้ความน่าสนใจต่อ BTS ในมุมมองของนักลงทุนทั้งรายย่อย และกลุ่มทุนจากต่างประเทศมีเครดิตที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน BTS ยังไม่หยุดนิ่งเพียงแค่งานดังกล่าว เพราะบริษัทและพันธมิตรทางธุรกิจในนามกิจการร่วมค้า BGSR ยังเดินหน้าประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐเพิ่มเติม เช่น การร่วมมือก่อตั้งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เพื่อประมูลโครงการสนามอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านบาทที่จะทราบผลช่วงปลายปีนี้นอกจากนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า BTS จะทยอยลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสื่อโฆษณา ที่มีเป้าหมายขยายไปสู่ต่างประเทศ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเราอาจเห็นสัดส่วนรายได้ของ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันโดยไม่ต้องพึ่งพิงแค่การให้บริการเดินรถไฟฟ้า แต่จะเป็น “โฮลดิ้ง คอมปานี” ที่ขาหนึ่งอยู่ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค ขณะที่อีกขาจะครองความยิ่งใหญ่ตลาดสื่อโฆษณา และยังมีธุรกิจเสริมด้านอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการเข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้ในอนาคตเมื่อพูดถึง “บีทีเอส” จะไม่ใช่รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เหมือนในปัจจุบัน ส่วนราคาหุ้นจะขยับจากจุดนี้ไปมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในแต่ละสายงานที่บริษัทลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้มากน้อยเพียงใด

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : mgronline.com