หลังอุตสาหกรรมโฆษณาติดลบมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ ล่าสุดตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาเดือน ส.ค. พลิกกลับมาเป็น “บวก” ได้ครั้งแรกในรอบปี และยังต้องรอลุ้นว่าไตรมาสสุดท้ายยังยืนในแดนบวกได้ต่อเนื่องหรือไม่ โดยมีเดียเอเยนซีมองว่าปีนี้ดีที่สุดน่าโตได้ 1.49% เท่านั้น
นีลเส็น ประเทศไทย รายงานการใช้เม็ดเงินโฆษณา เดือน ส.ค. 2562 มีมูลค่า 8,841 ล้านบาท เติบโต 0.94% ถือเป็นตัวเลข “เติบโต” ครั้งแรกในรอบปีนี้
เมื่อแยกรายสื่อ กลุ่มที่ยัง “ติดลบ” ในเดือน ส.ค. คือ ทีวี มูลค่า 5,684 ล้านบาท ติดลบ 0.77% เคเบิลและทีวีดาวเทียม มูลค่า 202 ล้านบาท ติดลบ 0.98% ถือเป็นอัตราติดลบ “ลดลง” จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่หนังสือพิมพ์ มูลค่า 402 ล้านบาท ติดลบ 26.64% นิตยสาร มูลค่า 76 ล้านบาท ติดลบ 30.28% “สื่อสิ่งพิมพ์” ยังคงมีแนวโน้มติดลบหนักต่อเนื่อง
ส่วนสื่อที่มีอัตราการเติบโตในเดือน ส.ค.นี้ คือ วิทยุ มูลค่า 424 ล้านบาท เติบโต 5.21% สื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่า 741 ล้านบาท เติบโต 57.32% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 572 ล้านบาท เติบโต 0.88% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 552 ล้านบาท เติบโต 16.70% สื่อในห้างฯ มูลค่า 88 ล้านบาท และสื่อดิจิทัล มูลค่า 98 ล้านบาท
3 แบรนด์โฮมช้อปปิ้งติดท็อปเท็น
สำหรับท็อปเท็น “แบรนด์” ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือน ส.ค. 2562 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อันดับ 1 ทีวีไดเร็ค มูลค่า 229 ล้านบาท ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์ซักผ้าดาวน์นี่ 110 ล้านบาท, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 92 ล้านบาท, มือถือซัมซุง มูลค่า 84 ล้านบาท, โค้ก 83 ล้านบาท, สนุกช้อปปิ้ง (โฮมช้อปปิ้ง) มูลค่า 80 ล้านบาท, โอ ช้อปปิ้ง (โฮมช้อปปิ้ง) มูลค่า 78 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว การ์นิเย่ มูลค่า 61 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน มูลค่า 58 ล้านบาท และ รถเก๋งโตโยต้า มูลค่า 54 ล้านบาท
ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งยังคงเป็นผู้ประกอบการ “รายใหญ่” ที่ใช้เวลานำเสนอเสินค้าและโฆษณาผ่านสื่อทีวีเป็นหลัก แม้เริ่มมีทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาตทยอยยุติออกอากาศตั้งแต่กลางเดือนส.ค. ที่ผ่านมาก็ตาม
10 องค์กรใช้งบโฆษณาสูงสุด ส.ค.
สำหรับองค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 10 อันดับแรก เดือนส.ค. 2562 อันดับ 1. ยูนิลีเวอร์ มูลค่า 311 ล้านบาท 2. พีแอนด์จี มูลค่า 278 ล้านบาท 3. ทีวีไดเร็ค มูลค่า 229 ล้านบาท 4. ลอรีอัล มูลค่า 219 ล้านบาท 5. โตโยต้า มูลค่า 147 ล้านบาท 6. ไบเออร์สดอร์ฟ มูลค่า 135 ล้านบาท 7. เอไอเอส มูลค่า 125 ล้านบาท 8. เป๊ปซี่ มูลค่า 115 ล้านบาท 9. ธนาคารออมสิน มูลค่า 110 ล้านบาท และ 10. โคคา-โคลา มูลค่า 110 ล้านบาท
โฆษณา 8 เดือน 6.8 หมื่นล้าน
สำหรับมูลค่าโฆษณา 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค.) ปีนี้ มีมูลค่า 68,823 ล้านบาท ติดลบ 1.22% โดย “สื่อหลัก” ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะ “ติดลบ” เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ไม่ว่าจะเป็น ทีวี มูลค่า 44,577 ล้านบาท ติดลบ 0.88%, เคเบิลและทีวีดาวเทียม มูลค่า 1,471 ล้านบาท ติดลบ 10.47% วิทยุ มูลค่า 3,011 ล้านบาท ติดลบ 2.24% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 678 ล้านบาท ติดลบ 21.25%
ส่วนสื่อที่มีตัวเลขเติบโต คือ สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 5,468 ล้านบาท เติบโต 10.8% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 4,533 ล้านบาท เติบโต 1.03% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 4,220 ล้านบาท เติบโต 7.16% สื่ออินสโตร์ มูลค่า 701 ล้านบาท เติบโต 1.01% สื่อดิจิทัล มูลค่า 520 ล้านบาท
ท็อปเท็นบริษัทใช้งบโฆษณาสูงสุด 8 เดือน
กลุ่มบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 10 อันดับ คือ 1. ยูนิลีเวอร์ มูลค่า 2,062 ล้านบาท 2. พีแอนด์จี มูลค่า 1,769 ล้านบาท 3. เนสท์เล่ มูลค่า 1,311 ล้านบาท 4. ธุรกิจไดเร็คเซล มูลค่า 1,239 ล้านบาท 5. ลอรีอัล มูลค่า 1,169 ล้านบาท 6. ทีวีไดเร็ค มูลค่า 1,133 ล้านบาท 7. โตโยต้า มูลค่า 1,117 ล้านบาท 8. โคคา-โคลา มูลค่า 979 ล้านบาท 9.ไบเออร์สดอร์ฟ มูลค่า 945 ล้านบาท 10. เป๊ปซี่ มูลค่า 897 ล้านบาท
แม้จะมีสัญญาณการใช้งบโฆษณาเดือน ส.ค.ปีนี้กลับมาเติบโต แต่ในมุมของ มีเดีย เอเยนซี ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด มองว่าทั้งปีอุตสาหกรรมโฆษณาคงเติบโตได้ราว 1.49% เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีนโยบายอะไรแรงๆ ของรัฐบาล ที่จะผลักดันการเติบโตโดยรวมได้
ส่วนปี 2563 MI คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโฆษณา “ติดลบ” 2.83% เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวก หรือนโยบายรัฐที่จะมากระตุ้นกำลังซื้อได้.
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : positioningmag.com