เปิดอาณาจักรแสนล้าน ‘เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์’ แห่ง บีทีเอส ไม่ขอเป็นแค่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ! ผ่านปากลูกชายสุดเลิฟ ‘กวิน’ ตั้งเป้า 3-5 ปี ดันโมเดลหาหลากเพื่อนใหม่ ต่อ ‘จิ๊กซอว์ 4 ธุรกิจ’ ดันองค์กรโตหลายเด้งผ่านอินไซด์ผู้บริโภคเจาะ ‘บิ๊กดาต้า’ ทุกมิติ
‘บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ (เดิมบริษัท ธนายง หรือ TYONG ) ของ ‘คีรี กาญจนพาสน์’ เจ้าพ่ออาณาจักร ‘ให้บริการรถไฟฟ้า’ ที่เคยเป็นหนึ่งในบริษัทมีหนี้สิน “มหาศาล” จากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540
ทว่า วันนี้กลับกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ที่มี ‘มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด’ (Market Cap) เพิ่มจาก 3,000-4,000 ล้านบาท มาอยู่ในระดับสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท !
หากย้อนไปดูอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน ธนายง คือผู้ดำเนินธรกิจพัฒนา ‘อสังหาริมทรัพย์’ ภายใต้ ‘โครงการธนาซิตี้’ ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร (กม.)14 ซึ่งเป็นโครงการที่ประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม และที่ดินเปล่าจัดสรร ก่อนจะรุกสู่ธุรกิจ ‘สาธารณูปโภคขนาดใหญ่’ ในปี 2535 ภายใต้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัดชื่อ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอสซี โดยเป็นผู้พัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางแรกของเมืองไทย !
โดยก่อนจะมาเป็นอาณาจักร ‘บีทีเอสกรุ๊ป’ ในทุกวันนี้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกีบกุหลาบ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ภาระหนี้พอกพูน ทำให้ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จนกระทั่งในปลายปี 2549 สามารถปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ ศาลล้มละลายกลางจึงได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในที่สุด
เมื่อฟื้นธุรกิจกลับมาได้ ในปี 2550 บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เข้าซื้อกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยการเข้าซื้อหุ้นบีทีเอสซี 94.60% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบีทีเอสซีได้สำเร็จในปี 2553 จากการได้มาซึ่งหุ้นบีทีเอสซีดังกล่าว ทำให้เปลี่ยนชื่อจาก บมจ.ธนายง หรือ TYONG เป็น บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS และเปลี่ยนธุรกิจหลักจากอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งเปลี่ยนหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์เป็น ‘ขนส่งและโลจิสติกส์’
กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘กวิน กาญจนพาสน์’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ลูกชายคนโตของ ‘คีรี’ ในมุมมองของคีรี (พ่อ) และเขาย้อนกลับไปกว่า 10 ปี เห็นตรงกันว่า.. ‘ผมและคุณคีรี (พ่อ) มีมุมมองว่าที่ผ่านมาใช้เวลาในการขยายธุรกิจเยอะมากทั้งที่สร้างขึ้นมาเองและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ฉะนั้นเปรียบเหมือนกินอาหารสะสมมาร่วม 10 ปี ทำให้ตอนนี้เราอ้วนมากแล้ว !’
สะท้อนการลงทุนในหลากหลายธุรกิจ รวมถึงการผลักดันธุรกิจในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อาทิ บมจ. วีจีไอ หรือ VGI ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสื่อโฆษณา บีทีเอส ถือหุ้น 66.79% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ถือเป็นการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของประเทศไทย บีทีเอสถือหุ้น 35.04% บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U ธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ บีทีเอสถือหุ้น 36.17% และบมจ. มาสเตอร์ แอด หรือ MACO ธุรกิจสื่อนอกบ้าน บีทีเอสถือหุ้น 51.32% (ตัวเลข ณ 14 พ.ย.2562)
นอกจากนี้ บีทีเอสยังเข้าไปถือหุ้นในหลายธุรกิจ อย่าง บมจ. แพลนบี มีเดีย หรือ PLANB ธุรกิจสื่อนอกบ้าน,บมจ. คอมเซเว่น หรือ COM7 ธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไอที, บมจ. อาร์เอส หรือ RS ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม , สื่อ , บมจ. โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ หรือ NOBLE ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือ SPI ธุรกิจลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคอาหารและเครื่องดื่ม , บมจ. บางกอก เดค-คอน หรือ BKD ธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายใน , บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART ธุรกิจจำหน่ายมือถือและบริการติดตามหนี้ และ บมจ. ฮิวแมนิก้า หรือ HUMAN
ทำให้ในปัจจุบัน ‘บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เขาย้ำ แต่ยังขับเคลื่อนองค์กรผ่าน ‘4 เสาหลักธุรกิจ’ คือ ธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้า , ธุรกิจสื่อนอกบ้าน , ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจการบริการ
ปัจจุบันขนาดองค์กรขยายใหญ่ โดยมีพนักงานทั้งในและต่างประเทศร่วมกันเกือบ 40,000 คน ! จาก 1,000-2,000 คนในอดีต รวมทั้งที่ผ่านมายังมีพันธมิตรเข้ามาผ่านการถือหุ้นในหลากหลายบริษัท
ทายาทเจ้าสัวคีรี ยังระบุด้วยว่า หลังสะสมขุมกำลังทางธุรกิจมามาก ผ่านการขยายเครือข่ายธุรกิจอื่นๆ แบบลงทุนเอง และร่วมกับพันธมิตร เกมธุรกิจจากนี้ในสเต็ปต่อไป จะเป็นเกมของการ Synergy (ผนึกกำลัง) ของแต่ละธุรกิจในกลุ่มและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างแท้จริง !!
เขายังระบุด้วยกว่า หากไม่ปรับตัวองค์กรแห่งนี้จะขยับตัวลำบาก โดยจะเห็นผลชัดในระยะไม่เกิน 3-5 ปีจากนี้ ตามเป้าหมายองค์กรแห่งนี้ต้องแข็งแรงทั้งในและนอก
ดังนั้นในปี 2563 จึงถึงเวลาที่ ‘บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์ครั้งใหญ่ ด้วยจัดทัพ ‘4 ธุรกิจ’ โดยส่วนของ ‘ธุรกิจให้บริการขนส่งมวลชน (Mass Transit)’ จะยกให้เป็นเสมือนผู้ที่คอยเปิด ‘ประตูต้อนรับผู้คน’ มาใช้บริการเข้ามาในระบบของเรา !!
สะท้อนความร่วมมือกับพันธมิตรในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ อาทิ ‘กลุ่มกิจการร่วมค้า บีจีเอสอาร์’ นำโดย บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมกับ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC และบมจ. ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ที่ชนะการประมูลการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)
ล่าสุด ‘กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส’ (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA , บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC เป็นผู้ชนะประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
รวมทั้งในอนาคตอาจจะมีบริการประเภทอื่นๆ เช่น รถเมล์,รถแท็กซี่,เรือโดยสาร หรือแม้แต่รถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซด์)
‘เรามีเป้าหมายอยากให้บริการคนไทยไปได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่บีทีเอสกำลังทำอยู่’
‘ธุรกิจ Offline-to-Online (O2O) Solutions’ บนแพลตฟอร์มธุรกิจด้านโฆษณา ธุรกิจให้บริการชำระเงิน ภายใต้ บมจ. วีจีไอ หรือ VGI โดยมีการผนึกกำลังกับพันธมิตรที่สื่อนอกบ้าน MACO และ PLANB ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเปรียบเหมือนเป็นคนที่รับคนต่อมาจาก Mass Transit และมาทำความรู้จักให้มากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ ‘บัตรแรบบิท’ (Rabbit) ซึ่งจะทำให้สามารถรู้พฤติกรรมของลูกค้าในการใช้ชีวิตประจำวันผ่านการใช้จ่ายผ่านบัตรแรบบิท
‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’ ภายใต้ บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U โดยหลักๆ จะเน้นลงทุนในประเภทโรงแรมและคอนโดมิเนียม ซึ่งในส่วนของ “โรงแรม” คิดเป็นรายได้หลักของบริษัทอยู่ที่ 70% โดยบริษัทจะลงทุนเองในประเทศไทย และบริหารจัดการ ส่วนโรงแรมในต่างประเทศจะเป็นการลงทุนผ่านการเช่าซื้อสัญญาเช่าและเปลี่ยนเป็นแบรนด์ของเรา
สำหรับการลงทุนประเภท ‘คอนโดมิเนียม’ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% ประกอบกับ บริษัทไม่มีความชำนาญในการสร้างคอนโดมิเนียม ดังนั้นจะลงทุนร่วมกับพันธมิตรทั้งหมด สอดคล้องกับที่ผ่านมาบริษัทมีการร่วมลงทุนกับ บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI และยังมีโครงการที่อยู่ในความร่วมมือกัน 25 โครงการ ซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการไปเพียง 12 โครงการเท่านั้น รวมทั้งเปิดกว้างร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ หากสนใจเนื่องจากบริษัทยังมีที่ดินแนวรถไฟฟ้ารอการพัฒนาอีกหลายแปลง
ส่วนการเข้าไปถือหุ้น NOBLE ในปีที่ผ่านนั้น คงจะมีแนวทางลงทุนร่วมกันกับทาง ยู ซิตี้ ในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีที่ดินรอการพัฒนาตามเส้นทางรถไฟฟ้าอีก
‘การร่วมลงทุนอสังหาฯกับพันธมิตรนั้น สิ่งแรกที่เราพิจารณาคือผลตอบแทนการลงทุนต้องอยู่บนเงื่อนไขผลตอบแทนบีทีเอส 50% และต้องไม่ขาดทุน ธุรกิจอสังหาฯ เราไม่มีความชำนาญดังนั้น เราควรให้พันธมิตรที่มีความชำนาญและถนัดทำดีกว่า ฉะนั้การเลือกพันธมิตรจะเน้นตัวเลขผลอตอบแทนที่การันตีและพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งเป็นหลัก’
และ ‘ธุรกิจโลจิสติกส์’ ซึ่ง VGI (บริษัทลูกบีทีเอส) ถือหุ้น บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด คิดเป็นสัดส่วน 23% ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะสร้างกำไรได้มากยิ่งขึ้น ตามเทรนด์ของโลกในตอนนี้ สะท้อนผ่านการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ที่มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์อนาคตจะใหญ่แน่นอน ด้วยกลยุทธ์การผนึกกำลังกับพันธมิตร ล่าสุดการซื้อหุ้น บมจ.อาร์เอส หรือ RS ที่ปัจจุบัน RS ไม่ใช่มีแค่ธุรกิจทีวีดิจิทัลเท่านั้น แต่กลายเป็นช่องที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของตัวเอง จากการสอบถามข้อมูลจากเคอรี่ ส่งสินค้าให้วันละ 30,000 ชิ้น
ส่วนการซื้อหุ้น บมจ. คอมเซเว่น หรือ COM7 เพราะว่าเข้ามาสาขาทั่วประเทศกว่า 600 สาขา ซึ่งอนาคต อาจจะมีการกระจายสินค้าหรือใช้เป็นที่พักสินค้าของบริษัทผ่านสาขาของ COM7 ก็เป็นไปได้
‘แผนธุรกิจของเรายังไม่คิดที่จะซื้อธุรกิจโลจิติกส์ใหม่เข้ามาเพิ่มเติม แต่จะเป็นในลักษณะการผนึกกำลังกับพันธมิตรมากกว่า เช่น มีระบบขนส่งมวลชนขนส่งคน (มอเตอร์เวย์ ,รถไฟฟ้า) อนาคตเราจะใช้สิ่งเหล่านี้ไว้ขนส่งสิ่งของได้ไหม คงเป็นแผนในอนาคตที่เราคงจะต้องทำ’
‘กวิน’ บอกด้วยว่า ‘กลยุทธ์’ ต่อจากนี้คือ บีทีเอสจะไม่เดินคนเดียวแต่จะหาเพื่อนใหม่ๆ เข้ามาร่วม เสมือนให้มาเป็นเพื่อนกับบีทีเอส และเป็นการขยายฐานลูกค้าเพิ่มและทำความรู้จักกับลูกค้ารายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักบีทีเอสมาก่อน โดยการใช้ “ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน” เป็นประตูด่านแรกในการเปิดตอนรับลูกค้า หลังจากนั้น จะส่งไม้ต่อ (ลูกค้า) ให้กับทาง VGI ในการเข้ามาทำความรู้จักลูกค้าให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จากธุรกิจ OTO ซึ่งจะทำให้ทำความรู้จักลูกค้าได้ยิ่งขึ้น จากพฤติกรรมลูกค้าในการใช้ชีวิตประจำวันผ่านการใช้จ่ายบัตรแรบบิทที่มีสมาชิก 5 ล้านคน และผ่านพันธมิตรอีก 18 ล้านคน
นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลลูกค้า (บิ๊กดาต้า) จะสามารถนำไปพัฒนาและสร้างฐานธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งบีทีเอสจะสามารถเสนอโซลูชั่นสร้างรายได้ในระยะยาวได้อีกมาก
‘รูปแบบการทำธุรกิจดังกล่าวจทำให้การลงทุนใน 3 ธุรกิจ (O2O ,อสังหาฯ ,โลจิสติกส์) ไม่ต้องลงทุนสูง แต่จะสร้างกำไรขั้นต้นได้มากกว่า และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย ไม่เหมือนธุรกิจระบบขนส่งมวลชนที่มีการลงทุนที่สูง’
องค์กรอ้วน แต่ต้องกระชับ!!
10 ปีที่ผ่านมาบีทีเอส เติบโตรวดเร็วมาก ‘กวิน กาญจนพาสน์’ แห่ง ‘บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ บอกว่า เปรียบเหมือนตอนนี้องค์กรแห่งนี้กำลังเป็น ‘คนอ้วน’ เพราะว่าช่วงที่ผ่านมากินๆ เข้าไปอย่างเดียว ในแผนธุรกิจ 3-5 ปี ของบริษัทมีเป้าหมายต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร
‘เราต้องแข็งแรงทั้งภายในและนอก..!!’
ดังนั้น เมื่อเทียบกับคนคือตัวใหญ่ขึ้น ฉะนั้น หากไม่อยากเดินลำบากหรือเหนื่อยง่าย องค์กรต้องสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ง่ายๆ เพราะธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ดังนั้น เมื่อโครงสร้างธุรกิจปรับใหม่ ในแง่ของโครงสร้างภายในก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเฉกเช่นกัน !
ปัจจุบันจากการขยายธุรกิจมาตลอดทำให้องค์กรมีพนักงานเกือบ 40,000 คน จากเริ่มต้นมีแค่ 1,000-2,000 คน เนื่องจากตอนนี้บีทีเอสไม่ได้มีเพียงธุรกิจให้บริการรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวแล้ว ซึ่งยอมรับว่า ในบ้านหลังใหญ่ของบีทีเอสพนักงานยังไม่รู้จักกันทั้งหมด ทำให้การทำงานยังมีความรู้สึกว่าบริษัทฉันบริษัทเธอ และเน้นทำงานเฉพาะธุรกิจของตัวเอง
ดังนั้น ในแผนธุรกิจต้องการปรับโครงสร้างภายในให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ไม่เน้นเฉพาะธุรกิจของตัวเองแต่จะต้องรู้จักธุรกิจของทั้งเครือ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบีทีเอสเข้าไปถือหุ้น บมจ. ฮิวแมนิก้า หรือ HUMAM เพราะว่าต้องการนำระบบซอฟต์แวร์มาช่วยภายในองค์กรของบีทีเอสที่มีพนักงานเกือบ 40,000 คน รู้จักกันทั้งหมด และที่สำคัญช่วยทำให้ผู้บริหารสามารถสื่อสารกับพนักงานทุกคนผ่านเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทันทีไม่ต้องผ่านให้ขั้นตอน
นอกเหนือจากมีการนำซอฟต์แวร์ของ HUMAN มาใช้แล้ว HUMAN ยังมีฐานลูกค้าองค์กร (คอร์ปอเรตรายใหญ่มากถึง 3,000 บริษัท ซึ่งมีโอกาสที่บริษัทจะสามารถเชื่อมพนักงานองค์กรขนาดใหญ่มายังบัตรแรบบิทของเราได้ เช่น กลุ่มสหพัฒน์ , ธนาคารกรุงเทพ (BBL) , โซนี่ , โตโยต้า ,แสนสิริ , กัลฟ์ เป็นต้น
‘จากนี้องค์กรบีทีเอสต้องสร้างบ้านตัวเองให้แข็งแรงก่อน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่าตอนนี้ภายในเรายังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานบีทีเอสจะต้องแข็งแกร่งทั้งในและนอกบ้าน’
เจอกัน 2-3ครั้ง! ปิดดีลซื้อ RS & COM7
‘กวิน กาญจนพาสน์’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เล่าให้ฟังว่า ในปีที่ผ่านมานั้นบริษัทมองหาเพื่อนใหม่ๆ มาร่วมเป็นพันธมิตรกับบีทีเอสหลากหลายราย เพื่อเข้ามาช่วยเสริมในสิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งในแง่ของการทำธุรกิจถือว่า WinWin ทั้งคู่
‘เวลาเราลงทุนเราต้องให้พันธมิตรกำไรมากกว่าเรา ซึ่งพันธมิตรต้องได้เปรียบมากกว่าเรา และนี่คือเหตุผลว่าทำไมบีทีเอสจึงสามารถซื้อหุ้นบริษัทที่คนอื่นซื้อหุ้นเขาไม่ได้’
อย่างกรณีการซื้อ หุ้น อาร์เอส หรือ RS ของ ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ นั้น ‘กวิน’ บอกว่า ส่วนตัวรู้จักกับ ‘เฮียฮ้อ’ มานานแล้ว แต่ว่าไม่ได้เจอกันประมาณ 10 ปี มาเจอเฮียฮ้ออีกครั้งก็ตอนเจรจาขอซื้อหุ้น RS นั้นแหละ ! ‘ผมขอซื้อหุ้นจากเฮียฮ้อครั้งที่ 3 ก่อนปิดดีลดังกล่าวสำเร็จ’
การถือหุ้น RS ถือว่าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน จะเข้ามาช่วยขยายธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ รวมทั้งจะเสริมศักยภาพ (Synergy) ทางธุรกิจ จะเป็นการผสาน จุดแข็งของสองบริษัทที่เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม เชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้า ตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการซื้อ หุ้น คอมเซเว่น หรือ COM7 ของ ‘สุระ คณิตทวีกุล’ นั้น ‘กวิน’ บอกว่า การซื้อหุ้น COM7 เพราะต้องการเป็นพันธมิตรธุรกิจเนื่องจาก COM7 มีสาขาทั่วประเทศ 600 แห่ง และยังมีการจำหน่ายสินค้าหลากหลาย และที่สำคัญแต่ละสาขามีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าจำนวนมากและมีทุกเพศและวัย ‘ผมเจอคุณสุระครั้งที่ 2 ก็ปิดดีลการซื้อหุ้น COM7 ได้สำเร็จ!’
‘COM7 มีสาขากว่า 600 แห่ง และมีฐานลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าเยอะมาก และในอนาคต บีทีเอสก็กำลังจะมีสถานีให้บริการรถไฟฟ้ากว่า 100 สถานี ซึ่งในอนาคตเราอาจจะใช้สาขาของพันธมิตรเป็นที่เก็บของหรือเป็นที่กระจายสินค้าของบริษัทก็เป็นไปได้’
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : bangkokbiznews.com