ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กลายเป็นปัจจัยที่ “ช็อก” สถานการณ์เศรษฐกิจ ความปลอดภัยของสุขภาพและชีวิตของประชาชนทั่วโลก
ในส่วนของภาคธุรกิจ ย่อมหนีไม่พ้นพ้นกระทบมาก–น้อยตามแต่ประเภทธุรกิจ จากกำลังซื้อที่ทรุดตัว จนเซ่น! ด้วยการหั่นงบการตลาด เลี่ยง–เลื่อนจัดงานอีเวนท์ ให้พนักงานลางานโดยไม่รับค่าจ้าง ลามไปถึงการปิดกิจการ เป็นต้น
ห่วงโซ่ผลกระทบยังลามไปสู่การวางเม็ดเงิน “โฆษณา” จากแต่ละปีที่เคยมีมูลค่าเกือบ “แสนล้านบาท” ย่อมต้องปรับลดลง ไปตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีงบโฆษณา จะเป็นสิ่งแรกๆที่ภาคธุรกิจจะหั่น เพื่อประหยัดต้นทุน ไม่หว่านเงินละลายแม่น้ำ ยิ่งผู้บริโภคไม่จับจ่ายใช้สอย แม้จะอัดกิจกรรมการตลาด โฆษณาไป ผู้บริโภคก็ไม่ซื้ออยู่ดี
ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ–สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด(MI) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาไตรมาส 1 ปีนี้ที่เป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า เม็ดเงินโฆษณาอาจหายไปถึง 20% ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 15 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน
ภวัต เรืองเดชวรชัย
ขณะที่เดือนม.ค. พบว่า การใช้จ่ายของแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆยังอยู่ในสภาวะปกติราว 6,500-6,800 ล้านบาท ก.พ.อยู่ราว 7,000-8,000 ล้านบาท ส่วนมี.ค.ยังต้องลุ้น! ว่าเม็ดเงินจะลดแค่ไหน อย่างไร
“ไตรมาส 1 ปีที่แล้ว เม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท แม้ตัวเลขไตรมาสแรกของปีนี้ยังไม่ออกมา แต่คาดว่าจะหดตัวลง 20% เพราะเห็นแล้วว่าลูกค้าไม่ใช้เงิน หากครึ่งปีแรกการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นตัวเลขอาจหนักหน่วงกว่านี้”
ผู้บริหารบริษัทเอเยนซี รายนี้ยังให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ลูกค้า (ภาคธุรกิจที่ซื้อโฆษณา) ตื่นตระหนกกันพอสมควร และเร่งปรับตัวเป็นการใหญ่ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การยกเลิกหรือเลื่อนงานออกไป 2.ลดขนาดการใช้เงินโฆษณาทำตลาด และ3.สำหรับสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบยังคงใช้เหมือนเดิม
สำหรับงานที่เลิกและเลื่อนการจัดงานใหญ่ เช่น บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2020 เลื่อนออกไปราว 1 เดือน ,งดจัดงานสงกรานต์ถนนข้าวเหนียว งานอีเวนท์ของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ และมิวสิค สงกรานต์ เฟสติวัล ในกรุงเทพฯ เนื่องจากศิลปินอินเตอร์เนชั่นแนล และสินค้าหยุดการขายสปอนเซอร์ เป็นต้น
ทว่า ยังมีสินค้าที่ยังคงใช้จ่ายเงินโฆษณาอยู่ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก รวมถึงห้างค้าปลีกต่างๆ
เช่นเดียวกับ ธุรกิจส่งสินค้า หรือโฮมเดลิเวอรี่ ยังคงใช้จ่าย เพราะผู้บริโภคที่ออกไปจับจ่ายใช้สอยน้อยลง หันมาสั่งสินค้าส่งถึงบ้านแทน แต่เม็ดเงินไม่ตกอยู่หมวดโฆษณาโดยตรง เพราะจะไปเติบโตในธุรกิจดังกล่าวแทน
“ช่วงนี้ถือเป็นซีซั่นของการใช้จ่ายเงินโฆษณา โดยสินค้าเครื่องดื่มยังคงใช้จ่ายอยู่ แต่โดยภาพรวมแผนการใช้เงินของลูกค้ามีการปรับตัวลดลงแน่นอน จากเดือนม.ค. ตลาดยังไม่มีปัจจัยลบกระทบนัก นอกจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช และครึ่งเดือนแรกของก.พ. ผลกระทบโควิด-19 ยังไม่เกิดขึ้น กระทั่งครึ่งเดือนหลังของก.พ. ลูกค้าต้องปรับแผน และมอนิเตอร์สถานการณ์เป็นวันต่อวัน”
เขายังระบุว่า เมื่อไม่สามารถคาดการณ์ว่าการระบาดของโรคจะเบาบางลงเมื่อไหร่ ยิ่งทำให้เอเยนซี่ ต้องทำงานกับลูกค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ พร้อมทำแผนเอาตัวรอด หรือ Suvival plan โดยยอมรับว่ามาตรการที่จะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในเวลานี้ คือการ “ลดต้นทุน” ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ตัดงบโฆษณา โปรโมโชั่น ทุกอย่างที่เป็นต้นทุน
“เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะยุติ หรือมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อไหร่ หรืออาจจะดิ่งเหวกว่านี้ เพราะขณะนี้มีคนไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศแบบไม่ถูกต้อง (ผีน้อย) เดินทางกลับมาประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้ประชาชนยิ่งตื่นตระหนกยิ่งขึ้น ดังนั้นในธุรกิจเอเยนซี และลูกค้า จึงพยายามคุมต้นทุน ทำอย่างอื่นยาก เพราะจะทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดไปอาจไม่ได้ผลมากนัก”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เอ็มไอ ประเมินอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจ กำลังซื้อชอละตัว จะทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ในภาวะ “ติดลบ 1%” เมื่อมีปัจจัยโควิด-19 มาซ้ำเติม อาจฉุดให้อุตสาหกรรมโฆษณาหดตัว 5-10% หรืออาจดิ่งไปถึง 15% ก็เป็นได้
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : bangkokbiznews.com