Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

เปิด 3 ผลกระทบ 3 แนวทางปฏิบัติ ที่ “นักการตลาด” ต้องรับมืออยู่ร่วมกับ COVID-19

เปิด 3 ผลกระทบ 3 แนวทางปฏิบัติ ที่ “นักการตลาด” ต้องรับมืออยู่ร่วมกับ COVID-19
March 22, 2020 dhammarong

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทรงอิทธิพลต่อทั่วทั้งโลก โดยมีผลกระทบโดยตรงต่อทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ทั้งในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค สภาพสังคมโดยรวม รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดสำหรับเวลานี้สำหรับบุคลากรในแวดวงการตลาดและการสื่อสาร

GroupM กลุ่มเอเยนซี่ด้านบริหารจัดการการลงทุนด้านสื่อระดับโลกในเครือ WPP ได้ทำการสรุปผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นและนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับนักการตลาด นักโฆษณา รวมถึงเจ้าของสื่อที่ต้องเร่งปรับแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการปรับตัวของสภาพสังคมในด้านต่างๆ ที่กำลังตามมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อป้องกันธุรกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

แนวโน้มทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการระบาด

ผลการวิจัยล่าสุดจากธนาคารออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ANZ Research) พบว่า จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจ ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับตลาดการค้าหลักอย่างประเทศจีน มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงต้นปี นอกจากนี้ แม้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก จากเดิมที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกคาดการณ์ไว้ ว่าจะเติบโต 3% ตลอดทั้งปี

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มจะลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 1 แต่อาจจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลงเหลือเพียง 1% ทั้งนี้ทุกธุรกิจยังคงต้องจับตาดูแนวโน้มการระบาดและมาตรการรับมืออย่างใกล้ชิดในระยะยาว

ผลกระทบต่อผู้บริโภค ตลาด และธุรกิจสื่อ

นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา สถานที่ทำงาน สถานศึกษา ร้านค้า รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง และได้รับผลกระทบได้เริ่มมีการปิดทำการชั่วคราว สำหรับภาคประชาชนหรือผู้บริโภคการเดินทางด้วยการโดยสารสาธารณะ รวมถึงการไปในสถานที่แออัดกลายเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังมากกว่าเดิม

โดยพบว่าเทรนด์การค้นหาคำ หรือข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ไวรัส COVID-19 และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น หน้ากากอนามัย ไวรัส มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสูงกว่าช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่หลายเท่าตัว

ที่น่าสนใจคือคำว่า โควิด (COVID) กลายเป็นเทรนด์ที่ขึ้นสูงที่สุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทั้งที่เพิ่งได้รับการเรียกในสื่อต่างๆ แทนคำว่าไวรัสโคโรนามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

GUAGZHOU, CHINA – JANUARY 22: Citizens wear masks to defend against new viruses on January 22,2020 in Guangzhou, China.The 2019 new coronavirus, known as “2019-nCoV”, was discovered in Wuhan virus pneumonia cases in 2019, and the virus was transmitted from person to person. Currently, confirmed cases have been received in various parts of the world. (Photo by Stringer/Anadolu Agency via Getty Images)

จากสถานการณ์นี้เป็นเหตุให้มีผู้บริโภคเลือกที่จะจำกัดตัวเองให้อยู่ในบริเวณบ้านมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้จำนวนการติดตามสถานข่าวสารผ่านทางช่องทางสื่อทั้งทางออนไลน์และทีวีสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ละคร และข่าวบนสื่อทีวี รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อที่เน้นไปที่การซื้อของออนไลน์มากขึ้น

จากผลการรวมรวมข้อมูลในภาพรวมของธุรกิจสื่อโลกของกรุ๊ปเอ็มผ่านบริษัทในเครือในหลายๆ ประเทศ พบกว่าการใช้เงินบนสื่อของธุรกิจทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงในหลายประเภทสินค้า โดยบรรดาธุรกิจรายใหญ่ยังคงมีการใช้เงินบนสื่อเพื่อมุ่งหวังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ในระยะยาว

การตื่นตัวของผู้บริโภค และธุรกิจบนอีคอมเมิร์ซ

นอกจากยอดการค้นหา และยอดการค้าปลีกสินค้าประเภทสุขอนามัยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว พบว่ายอดค้าปลีกบนออนไลน์มาร์เกตเพลสหลักอย่าง ‘ลาซาด้า’ มีการเติบโตขึ้นกว่า 50% ตลอดทั้งไตรมาส และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากการที่ออนไลน์มาร์เกตเพลส รวมถึงร้านค้าปลีกรายย่อยบนระบบออนไลน์พร้อมใจกันออกแคมเปญกระตุ้นยอดขายเพื่อรับโอกาสทางการค้า

โดยผู้ค้าที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างเช่นประเทศจีน ได้เริ่มมีการวางแผนสำรองกำลังการผลิตรวมถึงสต็อกสินค้าผลิตหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

ในส่วนของผู้บริโภค พบว่าสำหรับสินค้าบางประเภทที่ไม่ได้รับความนิยมในการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงแบรนด์ที่เน้นขายในช่องทางหน้าร้านเป็นหลักอย่างเช่นบริการร้านอาหาร จะเห็นได้ว่าผู้จำหน่ายได้เริ่มมีการปรับตัวรวมถึงปรับช่องทางการขายเพื่อรับมือกับสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซคิดเป็นราว 2-3% ของยอดค้าปลีกทั้งประเทศ ดังนั้น หากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มถดถอยลง ทุกธุรกิจจะต้องวางแผนรับมือต่อผลกระทบถึงแม้ยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้น

แนวทางปฏิบัติสำหรับนักการตลาด

  1. ศึกษาการปรับตัวจากจีน

ในระยะยาวนักโฆษณา และการตลาดสามารถใช้กรณีศึกษาจากประเทศจีนที่สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ได้เริ่มมีความคลี่คลายในการวางแผน และปรับตัว ในขณะเดียวกันในระยะสั้นก็ยังสามารถศึกษาการรับมือต่างๆ จากประเทศที่กำลังประสบภาวะการระบาดอย่างร้ายแรงอย่าง เช่น อิตาลี เพื่อเป็นแนวทางในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

  1. มองหาช่องทางอื่น เพื่อเพิ่มมูลค่า

แบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณาควรมองหาช่องทางที่จะเพิ่มมูลค่าของการบริการ รวมถึงการสร้างความมั่นใจ เชื่อถือ และความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและสังคม เนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาปกติ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้แบรนด์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและอยู่ในใจของผู้บริโภค

  1. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

นักโฆษณา และการตลาดมีหน้าที่ต้องติดตามสถานการณ์ของการระบาด และพฤติกรรมของผู้บริโภครวมไปถึงการเสพสื่ออย่างใกล้ชิดอย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน เพื่อให้แบรนด์ได้มีโอกาสในการปรับแผนกลยุทธ์ทางการตลาดและการขาย ทั้งนี้รวมถึงแนวทางเพื่อการวางแผนการสื่อสาร และการออกแบบชิ้นงานโฆษณาที่ต้องอิงกระแสหรือเหตุการณ์สำคัญของปี เช่น มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะเกิดขึ้น แบรนด์ควรมีแผนสำรองในกรณีที่มีการปรับหรือเปลี่ยนเงื่อนไขการจัดงานจากผลกระทบของไวรัส COVID-19

สุดท้ายนี้ นี่คือโอกาสสำคัญของการอีคอมเมิร์ซ และสินค้าประเภทที่มีบริการจัดส่งถึงบ้าน ด้วยแรงหนุนของพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมที่ผู้คนนิยมใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : positioningmag.com