จับกระแสผลกระทบ “โควิด-19” ในอุตสาหกรรมสื่อ คอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเป็นภัยคุกคามไปทั่วโลกอย่างรุนแรง จนถึงขั้นที่นายอัน
โตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บอกว่า วิกฤตการณ์นี้เป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตอกย้ำสัญญาณร้ายที่ก่อนหน้านี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ในสังกัดยูเอ็น ออกมาเตือนว่าการระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ จะส่งผลกระทบให้มีคนตกงานถึง 25 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
ท่ามกลางหลายภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนแล้วว่าเผชิญแรงกระทบเต็มๆ เมื่อไม่นานนี้เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ได้นำเสนอบทความที่วิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรม “สื่อ” โดยเฉพาะไว้อย่างน่าสนใจ
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดนี้ ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเพื่อรับมือให้ได้กับสถานการณ์ยากลำบากที่หลายๆ คนอาจเพิ่งเผชิญเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ดิ่งเหวแบบไม่ทันตั้งตัว
สภาเศรษฐกิจโลก ได้เจาะจง 3 อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ สื่อ กีฬา และบันเทิง ที่มีแนวโน้มร่วมชะตากรรมเดียวกันในภาวะนี้ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.รายได้จากอีเว้นท์หดหายแบบแทบจะฉับพลัน เพราะถูกเลื่อน ถูกยกเลิก เมื่อไม่มีการจัดงาน ออแกไนเซอร์ต่างๆ ก็ไม่มีงานเข้า-เงินเข้า สื่อทีวีเงินรายได้ค่าโฆษณาหดหาย สั่นสะเทือนถึงผลกำไร
ถ้าเกาะติดข้อมูลจากสื่อต่างๆ ก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับการวิเคราะห์ข้างต้นของ WEF เพราะนับตั้งแต่การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา อีเว้นท์ใหญ่ระดับทวีปหรือระดับโลกในด้านกีฬาต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนข้ามปี อย่างเช่น การแข่งขันบาสเกตบอล ในรายการเอ็นบีเอ ของสหรัฐ ที่แต่ละปีมีรายรับจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและค่าสปอนเซอร์สนับสนุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ,
การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2020) ที่ต้องเลื่อนจัดออกไป โดยสื่ออังกฤษประมาณการณ์ตัวเลขความเสียหายไว้หลักล้านปอนด์ และใหญ่ที่สุดคือ มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก 2020 ส่งผลใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ต้องสูญเสียเม็ดเงินเข้าประเทศที่เคยคาดหมายไว้จากอีเวนท์นี้ทันที 3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท)
2.ลดการจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน มาตรการด้านการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไม่ว่าจะเป็นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ล็อคดาวน์ ปิดประเทศ ปิดสถานที่/สถานประกอบการบางประเภท ในหลายประเทศ หลายเมืองที่ตกเป็นเหยื่อโควิด-19 สร้างข้อจำกัดในการเดินทางของผู้คน การรวมตัวทำกิจกรรมของคนจำนวนมาก การจำกัดบริเวณให้อยู่กับบ้าน เหล่านี้ทำให้ไม่มีความจำเป็นสำหรับเจ้าของสินค้า/แบรนด์ ที่ต้องทุ่มเงินสำหรับสื่อโฆษณานอกบ้าน หรือมุ่งกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่ออกนอกบ้าน
โดยเฉพาะการปิดสถานบันเทิง หรือสถานจัดแสดงมหรสพ ล่าสุดมีตัวเลขคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกสูญเม็ดเงินถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ต้องเลื่อนกำหนดลงโรงออกไปร่วมครึ่งปีเป็นอย่างน้อย อย่างเช่น เจมส์ บอนด์ ภาคล่าสุด “No Times to Die” เลื่อนฉายจาก 31 มีนาคมนี้ ไปเป็นพฤศจิกายนนี้
3.ยอดเสพสื่อออนไลน์พุ่ง การกักตัว การรักษาระยะห่างทางสังคม มาตรการทำงานที่บ้าน เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคต้องแก้เซ็งด้วยการเสพสื่อบันเทิงจากในบ้าน กระตุ้นให้บริการอย่างเช่น การดูหนังออนไลน์ (วิดีโอ ออน ดีมานด์) หรือการเล่นเกมออนไลน์ มียอดเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
มีผลสำรวจข้อมูลจาก ไฟแนนเชียล ไทม์ ระบุว่า ช่วงปิดประเทศจีนจากโควิด-19 ระหว่าง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ มียอดดาวน์โหลดแอพเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับยอดดาวน์โหลดเฉลี่ยของทั้งปีก่อนหน้า ที่โดดเด่นที่สุดคือ ยอดดาวน์โหลดเกม ซึ่งชาวจีนโหลดมาเล่นกันผ่านมือถือเพิ่มขึ้นถึง 80% จากปี 2562
แนวโน้มนี้ กลายเป็นช่องทางใหม่ของแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่หันมาใช้วิธีการฝัง คำสำคัญ (keyword) ต่างๆ ไปกับโฆษณาทางออนไลน์ อีกทั้งเพิ่มความรอบคอบด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงคำที่จะอาจถูกตีความหมายเป็นเชิงลบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ คำว่า “ไวรัสโคโรนา (coronavirus)” กลายเป็นคำลำดับต้นๆ ในรายการที่จะถูกบล็อก
4.เม็ดเงินโฆษณาลด หลายแบรนด์ใหญ่ตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านซัพพลายเชน หรือยอดขายสินค้า หลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการตลาด หรือการไม่สามารถจัดหาสินค้าได้เพียงพอต่อการจำหน่าย
จากกรณีศึกษาในประเทศจีนช่วงปิดประเทศจากสถานการณ์ไวรัสร้ายตัวนี้ พบว่าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวน 7% ที่ตัดงบโฆษณาแบบเบ็ดเสร็จ และ 14% โยกจากโฆษณาออฟไลน์มาอยู่บนช่องทางออนไลน์ ขณะที่แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมของจีน ระบุว่าแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุบตัวเลขเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาจากที่เคยประเมินไว้ 7% ก่อนหน้านี้ลงมาอยู่ที่ 3.9%
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ลดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าไม่จำเป็น ร้านค้าแบบดั้งเดิมต้องเผชิญภาวะยอดขายตก แต่ถ้าปรับตัวมาที่ช่องทางออนไลน์ก็จะมีโอกาสรอดพ้นสถานการณ์นี้ได้ มีตัวอย่างจากบางแบรนด์สินค้าความงามที่ใช้วิธีการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยโปรโมทผ่านออนไลน์ จนยอดขายพุ่งถึง 200% จากปีก่อนเลยทีเดียว
ท้ายสุดของบทความนี้ WEF สรุปไว้ว่า ณ จุดนี้ยังยากที่จะคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบระยะยาวต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างไร เพราะยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร ดังนั้นทางรอด ทางออกฝ่ากระแส “ไวรัส ดิสรัปชั่น” ในครั้งนี้คงต้องพึ่งพาความแข็งแกร่งด้าน “คอนเทนท์” ที่สื่อแต่ละรายจะผลิตและกระจายให้โดนใจผู้บริโภคให้ได้นั่นเอง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : komchadluek.net