การตลาด – ยุคไวรัสโควิด-19 กระหน่ำ หลายธุรกิจทรุดหนัก ขณะที่ “รายการข่าว” ขึ้นแท่นฮีโร่กู้ชีพ อุตสาหกรรมทีวี เหตุประชาชนให้ความเชื่อถือมากกว่าทุกสื่อ เอเยนซีพร้อมใช้เงินกับรายการข่าวเป็นอันดับ 1 แทนที่ละคร ขณะที่โฮมชอปปิ้งคึกคักไม่แพ้กัน แม้ภาพรวมทีวีหั่นราคาโฆษณาลง 15-20% หวั่นใจปีนี้อุตสาหกรรมโฆษณามีสิทธิ์ติดลบ 50% โคม่าสุดบนหน้าประวัติศาสตร์แทนที่ต้มยำกุ้ง
วิกฤตหนักสุดของอุตสาหกรรมโฆษณาที่ผ่านมา คือ วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังถล่มอุตสาหกรรมโฆษณาจนแทบทรงตัวไม่ไหว ซึ่งหวั่นใจว่าหากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงและยืดเยื้อ จนลามไปสู่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 แล้ว ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบากที่สุดของอุตสาหกรรมโฆษณา ที่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะติดลบถึง 50%
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ผู้ให้บริการซื้อ-ขายสื่อโฆษณา และวางกลยุทธ์ทางการตลาด เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้หนักหนาสาหัสที่สุด หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยไม่ค่อยสู้ดีนัก อีกทั้งวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก พ่อค้าแม่ค้า ผู้ให้บริการ วิชาชีพเฉพาะทาง คนใช้แรงงาน และดูเหมือนผลกระทบจะลุกลามไปทั่วโลกแล้ว
สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ เราไม่รู้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่นี้ จะคลี่คลายหรือมีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อไหร่
ทั้งนี้ ทาง MI ได้คาดการณ์ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 นี้ออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะเร็ว กับโควิด-19 หากคลี่คลายได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งปีคาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะติดลบ 15-20% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
2. ระยะกลาง หากโควิด-19 คลี่คลายได้ภายในเดือนกรกฎาคมหรือกลางปีนี้ ทั้งปีคาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะติดลบ 25-30% และ 3. ระยะยืดเยื้อ หากโควิด-19 ยืดเยื้อไปถึงปลายปีนี้ น่ากังวลว่าจะทำให้ตลอดทั้งปีนี้อุตสาหกรรมโฆษณามีสิทธิ์ติดลบไม่ต่ำกว่า 40-50% ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
***เม็ดเงินโฆษณาหาย 50% เกิดจาก?
สาเหตุที่ทำให้เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณามีโอกาสหายไปกว่าครึ่ง หรือกว่า 50,000 ล้านบาท จากตัวเลขรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทนั้น เกิดจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เอเยนซีและเจ้าของสินค้าและบริการไม่พร้อมที่จะใช้เงิน เพราะถึงแม้จะมีช่องทางให้ใช้เงิน แต่ไม่รู้จะใช้ไปทำไมเพราะไม่เกิดผล ในสถานการณ์ที่ทำตลาดไม่ได้ ห้างสรรพสินค้าปิด ประชาชนไม่ออกจากบ้าน ไม่มีอารมณ์ในการใช้จ่าย เป็นต้น
“สถานการณ์ปัจจุบัน เอเยนซีต้องทำงานวางแผนการใช้สื่อโฆษณาให้กับลูกค้าแบบวันต่อวัน บางกลุ่มสินค้ายังพร้อมใช้เงินลงโฆษณาอยู่ แต่บางกลุ่มสินค้าก็ปรับลดงบโฆษณาลง หรือยกเลิกการใช้เงินเพื่อการลงโฆษณาไปเลย เพราะใช้ตอนนี้ก็ไม่ช่วยอะไร ยกตัวอย่างเช่น ปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ เป็นช่วงเข้าสู่ซัมเมอร์ เป็นหน้าขายสินค้า ที่ต้องมีการทำการตลาด ออกสินค้าใหม่ แคมเปญใหม่ แต่จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอแผนออกไป ยิ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้มีแนวโน้มติดลบหนักสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
*** ไวรัสโควิด-19 ถล่มยับ ทุกสื่อเป็นลบหมด
จากการที่เอเยนซีชะลอแผนใช้เงินโฆษณา ในมุมของสื่อโฆษณา ในภาพรวมแล้วได้รับผลกระทบทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ ที่มองว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากไวรัสโควิด-19 จากการที่ประชาชนจะอยู่บ้าน เสพสื่อออนไลน์มากขึ้น หรือจากเดิมที่คาดว่าปีนี้สื่อออนไลน์จะโต 20% ยังต้องปรับแผนใหม่โดยคาดว่าดีที่สุดปีนี้น่าจะโตได้เพียง 12% เท่านั้น ขณะที่สื่อโฆษณาที่โดนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มากที่สุดคือ สื่อเอาต์ออฟโฮมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สื่อบนรถไฟฟ้า สื่อป้ายโฆษณา สื่อในโรงภาพยนตร์ และสื่ออินสโตร์ ซึ่งน่าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 20%
สำหรับสื่อทีวี เป็นอีกสื่อที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถึงแม้ว่าเวลานี้ประชาชนจะอยู่บ้านกันเป็นหลัก และพบว่าผู้ชมที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้สูงอายุจะดูทีวีมากขึ้นก็ตาม แต่ไม่ได้ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาจะเติบโตขึ้นตามไปด้วย ตามที่ได้กล่าวถึงเหตุและผลไปแล้วข้างต้น
“ส่งผลให้สื่อทีวีมีการปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การลดแลกแจกแถม เชิญชวนให้เอเยนซีและเจ้าของสินค้าลงโฆษณามากขึ้น จนทำให้ในความเป็นจริงเรตราคาโฆษณาในช่องหลัก อย่าง ช่อง 3 และช่อง 7 มีการปรับลดลงเฉลี่ย 15-20% ส่วนช่องรองลงมา ปรับลดลงถึง 40-60% ในปีนี้” นายภวัตกล่าว
นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2020 เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าอยู่ที่ 17,865 ล้านบาท ซึ่งสื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 58%
***”รายการข่าว” พระเอกอุ้มสื่อทีวี
อย่างไรก็ตาม สื่อทีวี เป็นสื่อที่มีความได้เปรียบมากกว่าทุกสื่อ โดยเฉพาะกับคอนเทนต์ “รายการข่าว” เนื่องจากประชาชนให้ความเชื่อถือในการเสพข่าวมากที่สุด ทำให้รายการข่าวจากสื่อทีวีจึงเป็นคอนเทนต์เดียวที่มีน้ำหนักในการดึงรายได้จากโฆษณามากที่สุดของสื่อทีวี ซึ่งเอเยนซีและเจ้าของสินค้าเวลานี้ พร้อมที่จะลงโฆษณากับรายการข่าวบนสื่อทีวีมาเป็นอันดับหนึ่ง ใกล้เคียงกับละคร ที่เคยเป็นคอนเทนต์แรกที่ดึงดูดเม็ดเงินโฆษณามากสุดที่ช่วงที่ผ่านมา
นายภวัติกล่าวว่า คอนเทนต์รายการข่าวบนสื่อทีวีมีความได้เปรียบมากเมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์ เพราะคนดูให้ความเชื่อถือมากกว่าสื่อออนไลน์ที่มีข้อจำกัดเรื่องของเฟกนิวส์ อีกทั้งรายการข่าวบนสื่อทีวีเล่นกับความสด ใหม่ ที่ทำได้ดีกว่าทุกสื่อ รายการข่าวบนสื่อทีวีจึงกลายเป็นคอนเทนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้สื่อทีวีก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้
ดังนั้น หลังจากนี้เราจะได้เห็นแผนการปรับตัวของสื่อทีวี ที่จะมีการเพิ่มพื้นที่ข่าวมากขึ้น ขณะที่รายการข่าวบนสื่อทีวีทีมีเรตติ้งสูงสุด คือ ช่อง 3, ช่อง 7, ไทยรัฐทีวี, อัมรินทร์ทีวี และช่องวัน ตามลำดับ
*** ทีวีจัดเต็มผังรายการรับโควิด-19
ล่าสุด จากสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดไวรัสโควิด-19 ทางสถานีโทรทัศน์ ช่องไทยพีบีเอสได้มีการปรับผังรายการเกือบ 100% จัดทัพใหญ่ยกระดับการผลิตเนื้อหา เชื่อมเครือข่าย ระดมผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลในมิติต่างๆ เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ร่วมหาทางออกให้กับประชาชน นำเสนอข้อมูลอยู่บนฐานของการระดมความรู้ และบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้รายงานว่า ไทยพีบีเอสวางแผนยกระดับเนื้อหาให้ทันต่อสถานการณ์ ปรับผังและนำเสนอเนื้อหาโควิด-19 ในสัดส่วนร้อยละ 60 ของผังรายการทั้งหมด โดยเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางช่องไทยพีบีเอสจึงปรับผังเกือบ 100% มุ่งเนื้อหานำสังคมไทยไปข้างหน้าว่าด้วยเรื่องของไวรัสโควิด-19 ในมิติต่างๆ ตลอดทั้งวัน
เช่น รายการ “วันใหม่วาไรตี้” วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-10.00 น. รายการ “จับตาสถานการณ์” วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.30-13.00 น. รายการ “โควิด-19 สู้ไปด้วยกัน” วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00-14.00 น. รายการ “ตอบโจทย์ COVID-19” วันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 20.20-21.00 น. และวันศุกร์ เวลา 20.30-21.15 น. และรายการ “ไทยสู้โควิด-19” วันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 21.00-22.15 น. และวันศุกร์ เวลา 21.15-22.15 น. เป็นต้น
ขณะที่ทางด้านช่อง 5 ก็มีการปรับผังรายการมาก่อนหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเกาะติดข่าวสาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทันท่วงทีและละเอียดกับทุกช่วงข่าวของช่อง 5 ได้ทุกวัน ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าถึงดึกกับ ช่อง 5 ข่าวเช้า, ช่อง 5 ข่าวเที่ยง, ช่อง 5 ข่าวค่ำ, ฮาร์ดคอข่าว, จับประเด็นข่าวร้อน, ช่อง 5 ข่าวดึก และทันข่าวต้นชั่วโมง ส่วนเสาร์อาทิตย์เพิ่มเติมในช่วงเที่ยงกับ เวทีข่าวสุดสัปดาห์
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานีวิทยุ FM 99 Active Radio คลื่นเมืองไทยแข็งแรง จะเริ่มจัดรายการพิเศษ “เกาะติด โควิด-19” วันแรกในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ โดยแบ่งการจัดรายการออกเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรก เวลา 07.30-10.00 น. Update สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ทั่วไทย และเวลา 16.00-18.00 น. Update สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ทั่วไทย รอบวันที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายการปกติจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เวลา 06.00 น.
นอกจากนี้ อสมท ได้เตรียมความพร้อมแผนบริหารความเสี่ยง BCP เพื่อรองรับการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ด้านโทรทัศน์ มีแผนงานรองรับในการใช้ Studio เคลื่อนที่ ซึ่ง อสมท มีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และรถ OB รวมทั้งการวางแผนงาน Work from home สำหรับพนักงานบางส่วนงาน เพื่อลดความแออัดของ Studio และลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
***โฮมชอปปิ้งคึกคักได้รับผลบวก
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ในแง่ของกลุ่มสินค้าแล้ว กว่า 90% ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันหมด และมีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับผลบวก ซึ่งได้แก่ กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย, ประกัน, เครื่องฟอกอากาศ, ความบันเทิงบนโลกออนไลน์, ดีลิเวอรี, อีคอมเมิร์ช และโฮมชอปปิ้ง
โดยเฉพาะกลุ่มโฮมชอปปิ้งนั้น ผลบวกคือ จากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ดูทีวีมากขึ้น ประกอบกับมาตรการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ห้างร้าน เป็นโอกาสดีสำหรับทีวีโฮมชอปปิ้งในการเพิ่มยอดขายของหมวดสินค้าที่ช่องทางขายปกติได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว และเป็นโอกาสดีมากขึ้นกับสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย รวมถึงมีโอกาสในการได้พื้นที่โฆษณาในรูปแบบทีวีโฮมช้อปปิ้งจากทีวีแต่ละช่องที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมที่เข้ามายังสื่อทีวีหดตัวลง
ส่วนในแง่ลบนั้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนว่างงาน ตกงาน และคนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้กำลังซื้อหดตัว แม้รับชมรายการทีวีโฮมชอปปิ้งผ่านสื่อทีวีจากทางบ้าน นอกจากนี้ จากการที่เปิดรับหรือถูกบังคับให้ต้องเปิดรับและเรียนรู้กับช่องทางอีคอมเมิร์ชมากขึ้น ทำให้เกิดความคุ้นชินและคุ้นเคยกับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มมากขึ้น นั่นหมายถึงทีวีโฮมชอปปิ้งกำลังต้องเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมหาศาลในสมรภูมิเรดโอเชียน
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขการระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น บริษัทฯ เข้าใจสถานการณ์และความกังวลของลูกค้า พนักงาน และพาร์ตเนอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจคอมเมิร์ซที่มี RS Mall เป็นแพลตฟอร์มหลักซึ่งจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง on air ทั้งทางช่อง 8, ไทยรัฐทีวี, เวิร์คพอยท์ทีวี และอมรินทร์ทีวี รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ www.rsmall.co.th, Line @rsmall และ โทร. 1781
“เรายืนยันว่ายังคงสามารถให้บริการตามปกติ และพร้อมให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งยังบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านให้ฟรีทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาวะเสี่ยงและการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานในแง่ธุรกิจที่ยังคงสร้างรายได้ต่อเนื่อง จากการออกแคมเปญที่ตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมียอดขายเติบโตในเดือนมีนาคมนี้สูงกว่า 35% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนสินค้าขึ้นแท่นโปรดักต์แชมเปี้ยน 3 อันดับแรกของ RS Mall เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพทั้งหมด ได้แก่ เอส.โอ.เอ็ม.คอร์ดี้ ทิเบต แอนด์ ภูฏาน (S.O.M. Cordy Tibet & Bhutan) กาแฟสำเร็จรูป เอส.โอ.เอ็ม.ซีแม็กซ์ (S.O.M. CMax) และ เอส.โอ.เอ็ม.ไอแคร์ (S.O.M. i-Kare) อาหารเสริมบำรุงสายตา ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์มียอดขายประมาณการในไตรมาสแรกกว่า 150 ล้านบาท”
นางสาวอภิรวี พิชญเดชะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮปปี้ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่กระจายของโรคโควิด-19 แต่วิกฤตและปัญหานี้ไม่ได้ปิดกั้นทุกธุรกิจ เมื่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และดีลิเวอรีกลายเป็นทางเลือกหรือทางออกทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ปัจจัยดำรงชีพได้เหมือนสถานการณ์ปกติ เพราะลูกค้ายังคงต้องการซื้อสินค้าและบริการ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการชอปปิ้งเท่านั้น
“ธุรกิจโฮมชอปปิ้งเติบโตสวนทางธุรกิจอื่นอย่างมาก สำหรับยอดขาย Happy Shopping ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของเรา ช่องทางตลาดออนไลน์โตกว่า 200% ซึ่งไม่ใช่แค่เราอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 น้อยที่สุดเท่านั้น แต่เพราะเรามีการปรับกลยุทธ์สินค้าอย่างทันท่วงที ทำให้เครื่องฟอกอากาศ เครื่องล้างผักโอโซน รวมทั้งสินค้า House Brand อย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินผักผลไม้รวม Vita Daily เติบโตกว่า 50% จากยอดขายปกติ”
สำหรับแผนการและกลยุทธ์ด้านโปรดักต์ยังนำมาปรับใช้กับการเปิดตัวสินค้าใหม่ของ Happy Shopping ด้วยเช่นกัน โดยสินค้า House Brand ในไตรมาส 2 จะผลักดันผลิตภัณฑ์ซีไบรท์ (C-Byte) ป้องกันดวงตาออกสู่ตลาด ตลอดจนปรับแผนการขายสินค้าและบริการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ อย่างกลุ่มสินค้าบริการท่องเที่ยว Happy Experience โดยจะปรับมาเป็นการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นต้น
ในครึ่งปีแรกจะโฟกัสไปที่ช่องทางออฟไลน์ อย่างทีวีดิจิทัลมากถึง 80% และขยายการทำงานในออนไลน์ 20% ส่วนช่องทางออนไลน์ จะมุ่งไปที่มาร์เกตเพลซอย่าง Shopee, Lazada ร่วมกับการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่เชื่อมั่นของลูกค้าเสมอ ซึ่งช่วงระบาดของโควิด-19 ได้จัดโปรโมชันพิเศษ ฟรีค่าจัดส่งมูลค่า 200 บาท เมื่อสั่งสินค้ากลุ่มอาหารเสริม
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : mgronline.com