Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

กทม.เตรียมระบบระบายน้ำรับมือฝนตก หวั่นพายุฤดูร้อน 50 เขต ดูแลต้นไม้ ป้ายโฆษณา

กทม.เตรียมระบบระบายน้ำรับมือฝนตก หวั่นพายุฤดูร้อน 50 เขต ดูแลต้นไม้ ป้ายโฆษณา
May 17, 2020 dhammarong

ฝนตก- เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร ระวังพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 10-13 พฤษภาคมนี้ ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศจากเรดาร์ตรวจอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนจากพายุฤดูร้อน โดยลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบ
และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวตามพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม
เร่งสูบน้ำในท่อและคลองด้วยเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ จัดหน่วยเบสท์ (BEST) ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบระบายน้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ และประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรณีฉุกเฉิน หรือไฟฟ้าดับ

“อีกทั้งประสานหน่วยงานภายนอกที่มีโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขอให้คืนพื้นที่ เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ฝนตกหรือจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th เฟซบุ๊ก bkk.best ทวิตเตอร์ bkk_best/bkk best ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม.ไลน์@bkk_best และแอพพลิเคชั่น กทม.Connect” นายณรงค์ กล่าว

ด้าน นายไทวุฒิ ขันแก้ว  ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการโยธา กทม.ได้แจ้งเจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้ป้ายเป็นประจำ หากป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่าชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขหรือให้รื้อถอน รวมทั้งดำเนินคดีกับป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน  ป้ายที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเกิน 1 ปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

“นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับป้ายทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือกลไว้

เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้ายอีกด้วย” นายไทวุฒิ กล่าว ขณะที่ นายชาตรี วัฒนเขจร  ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และ 50 สำนักงานเขต ได้สำรวจตรวจสอบ และดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ในสภาพแข็งแรง มีทรงพุ่มที่สมดุล ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค สางโปร่ง เพื่อลดแรงปะทะลมและฝน ตัดลดความสูงลงตามความเหมาะสม ตรวจสอบวัสดุค้ำยันให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีความมั่นคง สามารถพยุงค้ำยันต้นไม้ใหญ่ได้ อีกทั้งได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ไว้พร้อมปฏิบัติงานกรณีเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นล้มได้ทันที

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : matichon.co.th