Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

ส่องอาณาจักรแสนล้านของ BTS กับบทพิสูจน์วิกฤติ Covid-19 ที่หุ้นปรับลดลงแค่ 7%

ส่องอาณาจักรแสนล้านของ BTS กับบทพิสูจน์วิกฤติ Covid-19 ที่หุ้นปรับลดลงแค่ 7%
September 13, 2020 dhammarong

การปรับลดลงของราคาหุ้นในช่วงวิกฤติ Covid-19 หรือในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่ปรับลดลงแรง แต่ก็มีหุ้นหลายตัวที่ราคาปรับลดลงไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหุ้น BTS ที่ราคาช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หุ้นปรับลดลง 6.96% (26 ส.ค.63) เพราะฉะนั้นมาดูกันว่าภายใต้อาณาจักรของหุ้น BTS ที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงในช่วงล็อคดาวน์ แต่ทำไมหุ้น BTS ถึงเป็นหุ้นฝ่าวิกฤติ มีปัจจัยอะไรบ้างที่หนุนให้หุ้น BTS ยังยืนอยู่ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 9-10 บาท มาต่อเนื่อง

ปกติเรารู้จัก BTS ในนามของหุ้นรถไฟฟ้า แต่รู้หรือไม่ว่าโครงสร้างธุรกิจ BTS ในปัจจุบันแทบจะครอบคลุมทุกเซ็คเตอร์ ทั้งระบบการเดินทาง โฆษณา ระบบชำระเงิน สื่อและโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งยังไม่นับรวมการร่วมทุนกับบริษัทพลังงาน เช่น PTT ,GULF ,RATCH โดยหมวดธุรกิจหุ้น BTS ปักหมุดอยู่ใน 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน 2.ธุรกิจสื่อโฆษณา 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 4.ธุรกิจบริการ

 

 

รายได้หลักมาจากธุรกิจขนส่งมวลชน 80%

เริ่มจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีรายได้ธุรกิจขนส่งมวลชน 80% ในงบปี 62/63 32,076 ล้านบาทโดยการให้บริการการเดินรถและการก่อสร้างรถไฟฟ้า BTS ดำเนินการผ่านบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บีทีเอสซี ซึ่งในปีนี้ BTS จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้เต็มเส้น และปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในต.ค.64 และมีโครงการรถไฟฟ้าที่เตรียมก่อสร้างคือคือ รถไฟฟ้าสายสีทอง รถไฟฟ้าที่เตรียมเข้าประมูล เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือโครงการอื่นๆ ของการรถไฟฯ

สำหรับธุรกิจ Flagship ของ BTS จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากสัดส่วนการใช้บริการขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทยในปัจจุบันยังมีน้อย แค่ 13% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกง สัดส่วนการใช้รถไฟฟ้า 49% ของการเดินทางรวม ,โตเกียว สัดส่วนการใช้รถไฟฟ้า 48% ของการเดินทางรวม และสิงคโปร์ สัดส่วนการใช้รถไฟฟ้า 46% ของการเดินทางรวม

และนอกจากธุรกิจหลัก ปีนี้เป็นปีแรกที่ BTS ลุยธุรกิจ “โครงสร้างพื้นฐาน” อย่างจริงจัง ทั้งการเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงเส้น M6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และ ทางหลวงเส้น M81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ร่วมกับ GULF,STEC และ RATCH และโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ร่วมกับ BA และ STEC

ใช้ VGI ปักธงธุรกิจสื่อโฆษณา

ต่อมาคือธุรกิจโฆษณาที่กำลังมาแรงในตอนนี้ งบปี 62/63 มีสัดส่วนรายได้ 15% หรืออยู่ที่ 5,735 ล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากสื่อในระบบขนส่งมวลชน สำหรับธุรกิจ “กลุ่มสื่อโฆษณา” BTS ดำเนินการผ่านบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ที่เข้าถึงคน 30 ล้านคน

ซึ่งความโดดเด่นของ VGI ไม่ใช่แค่เป็นรายใหญ่ในตลาดสื่อโฆษณา แต่ยังมีอีก 2 ธุรกิจที่หนุน VGI นั่นคือธุรกิจแพลตฟอร์มชำระเงิน ในรูปแบบ Micro-Payment ด้วยฐานสมาชิกบัตรแรบบิทกว่า 18 ล้านคน จากจุดให้บริการที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยระบบจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และสามารถวัดผลได้ สำหรับธุรกิจนี้ แน่นอนว่าจะเป็น Data Center ให้กับ BTS Group ในอนาคต

 

 

VGI ซิลลิ่งรับข่าว Kerry เตรียมเข้าตลาดฯ

นอกจากนี้อีกธุรกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ธุรกิจ “โลจิสติกส์” ซึ่งปัจจุบัน VGI ถือหุ้นในบริษัท Kerry Express Thailand สัดส่วน 23% โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา หลัง “Kerry Express” ยื่นไฟลิ่งต่อทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ราคาหุ้น VGI วิ่งขึ้นแตะระดับซิลลิ่งทันทีที่ 6.80 บาท เพื่อรับข่าว Kerry Express กำลังจะเข้า IPO

 

 

ตั้งเป้าเปิดลอว์สันบนรถไฟฟ้า 30 สถานี ใน 2-3 ปี

นอกจากปัจจัยเด่นจากธุรกิจบัตรแรบบิท ไลน์เพย์ และ Kerry Express แล้ว VGI ยังได้ลงนามในสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท สหลอว์สัน จำกัด และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มสหพัฒน์ เพื่อเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 (ลอว์สัน) บนรถไฟฟ้ารวม 5 สถานี และมีแผนที่จะเปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอีก 30 สถานีภายใน 2-3 ปีนี้

ทั้งนี้นอกจากการขยายธุรกิจเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ แล้วในด้านการลงทุนในต่างประเทศ VGI ได้ร่วมมือกับ iClick ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์และเทคโนโลยีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ตั้งบริษัทร่วมทุน V-Click Technologies Company Limited โดยความร่วมมือครั้งนี้ เน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี AI กับการให้บริการสื่อดิจิทัลในเครือ VGI ทั้งหมด

ปรับโครงสร้างธุรกิจ ใช้ MACO บุกตปท. ส่วน PLANB ลุยธุรกิจในประเทศ

และนอกจาก VGI ที่เป็นหัวหอกกลุ่มสื่อของ BTS แล้ว สำหรับธุรกิจบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO ซึ่งเดิมนั้นเคยมีสถานะเป็น “บริษัทย่อย” บอร์ดได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นใหม่ โดยปรับจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วมแทน ทำให้ VGI ยกเลิกการควบรวมงบการเงินของ MACO ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562/63 เป็นต้นมา โดยมี VGI เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 26.58% BTS ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 สัดส่วน 14.58% และ PLANB ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 5 สัดส่วน 9.98% โดยจุดเด่นของ MACO คือการขยายธุรกิจโฆษณาในต่างประเทศทั้งหมด ส่วน PLANB จะเป็นบริษัทที่ลุยธุรกิจสื่อในประเทศ

สำหรับธุรกิจ PLANB นอกจากการให้ความสำคัญกับการทำมาร์เก็ตติ้ง เช่น เพลง กีฬาแล้ว ล่าสุด PLANB จับมือกับ “สำนักข่าว The Standard” ติดตั้งสื่อใน 7-Eleven ไปแล้วกว่า 500 สาขา โดยใช้เทคโนโลยี IoT ในการถ่ายทอดข่าวได้แบบเรียลไทม์ และตั้งเป้าขยายจอร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในกรุงเทพให้ครบ 1,000 สาขา ภายในเดือนต.ค.63 และถ้าใครจำกันได้ จะเห็นว่าความร่วมมือก่อนหน้านี้ PLANB ร่วมมือกับ CPALL โฆษณาสื่อในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และบนรถไฟฟ้า

ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 3 ธุรกิจสื่อ VGI,MACO และ PLANB แยกความน่าสนใจกันคนละด้าน (โดย BTS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ VGI ส่วน MACO และ PLANB จะมี VGI เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ BTS ไม่ได้ถือโดยตรง)

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของทั้ง 4 หุ้น จะมีความเชื่อมโยงกันเป็นสายป่าน หากธุรกิจรถไฟฟ้าโต ธุรกิจสื่อก็โต!!!!!! ที่สำคัญทั้ง 2 ธุรกิจ เบสบนข้อมูลผู้บริโภคผ่านการใช้งานระบบชำระเงิน และการส่งพัสดุของ Kerry ซึ่งทั้งการเดินทางรถไฟฟ้า การใช้จ่ายผ่านบัตรแรบบิท และการซื้อของออนไลน์ สามารถเจาะพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง สุดท้ายเป็นอัญมณีอันล้ำค่าที่ VGI สามารถใช้วางแผนสื่อได้อย่างแม่นยำ และได้เปรียบเอเจนซี่ ผู้วางแผนโฆษณารายอื่น

หุ้น U ผู้กุมอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่ม BTS

ต่อมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่แม้ว่าจะมีสัดส่วนรายได้แค่ 1% หรือ 381 ล้านบาท แต่ความน่าสนใจคือ เป็นธุรกิจผูกขาดพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ที่ใกล้รถไฟฟ้ามากที่สุด!!!!! โดย BTS จับมือกับ “แสนสิริ” พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ในรัศมี 500 เมตร ผ่านแบรนด์ The Line, Khun by Yoo, The Base และ The Monument ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมี Backlog ประมาณ 5,300 ล้านบาท

ซึ่งความน่าสนใจที่เรามองว่า “U” จะเป็นหุ้นมาแรง 3 ประการคือ 1.ปัจจุบันบริษัทมีที่ดินที่รอการพัฒนา 3,500 ล้านบาท 2.การเข้าซื้อขายหุ้นสามัญ ในกิจการโรงแรม (arcona Hotel portfolio) ซึ่งประกอบด้วยสัญญาเช่า ดำเนินงานโรงแรม 17 แห่ง (มีห้องพักรวม 1,792 ห้อง) และสัญญาเช่า ดำเนินงาน 2 โรงแรมใหม่ (มีห้องพักรวม 251 ห้อง) ซึ่งทั้ง 2 โรงแรม ดังกล่าวคาดว่าจะเปิดำเนินการได้ ในปี 2563 และ ปี 2565 ทั้งนี้โรงแรม ทั้งหมดตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ภายใต้แบรนด์ arcona และ Steigenberger และ 3.การเปิดโรงเรียนนานาชาติ เวอโซ่ (Verso) ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติ ที่ร่วมทุนกับฮ่องกง

และสุดท้ายคือธุรกิจบริการ มีสัดส่วน 4% ในงบปี 62/63 1,746 ล้านบาท ประกอบธุรกิจห้องอาหารจีนในเครือเชฟแมน โปรแกรมสะสมคะแนนแรบบิท รีวอร์ดส และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง “เอชเอชที คอนสตรัคชั่น” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทโยธาและโครงสร้างในฮ่องกง โดยโครงการภายใต้การบริหารและก่อสร้างที่ผ่านมา เช่น โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ, โครงการ Abstracts พหลโยธิน พาร์ค, การปรับปรุงธนาซิตี้ กอล์ฟ และสปอร์ตคลับ และโครงการ ยู สาทร ทั้งนี้ในปี 2562/63 เอชเอชที คอนสตรัคชั่น รับรู้รายได้รวม 1,604 ล้านบาท จากการให้บริการก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติ Verso และอาคารมิกซ์ยูส The Unicorn ของยู ซิตี้

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : wealthythai.com