11 เดือน งบโฆษณาสะพัด 96,012 ล้านบาท แบรนด์รัดเข็มขัด ชะลอใช้จ่ายเงินซื้อสื่อซึมยาว เซ่นพิษโควิด-19 อาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ ยังไม่ฟื้นใช้เงิน
สิ่งที่ลากยาวไม่แพ้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือสถานการณ์ของธุรกิจที่มี “บาดแผล” ผู้ประกอบการบอบช้ำกับสภาวะยอดขาย รายได้หด กำไรลดลง กระทั่งแบกภาระ “ขาดทุน” จากการล็อกดาวน์เมืองพักใหญ่ ร้านค้าถูกปิดค้าขายลำบาก ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อต้องรับมือความไม่แน่นอน โดยเฉพาะหน้าที่การงาน สุ่มเสี่ยงต่อ “ฐานะการเงินส่วนบุคคล” จึงต้อง “รัดเข็มขัด” ประหยัดจับจ่ายใช้สอย
ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้า ซื้อน้อยลง และซื้อเท่าที่จำเป็น ผลกระทบจึงเกิดเป็นโดมิโน่ ส่งผลต่อยอดขาย และแบรนด์ต้อง “หั่น–เบรกงบโฆษณา” เช่นกัน
ปัจจัยดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2563 ต้องอยู่ใน Red Zone หรือแดนลบ!! อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุด เอจีบี นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2020 หรือรวม 11 เดือน ต้องเผชิญภาวะการหดตัวลงถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยมูลค่าอยู่ที่ 96,012 ล้านบาท แม้ว่าอัตราดังกล่าวจะหดตัวในระดับ “ทรงตัง” จาก 10 เดือนแรกที่ “ติดลบ15%
ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวมการใช้จ่ายเงินโฆษณาในเดือนพฤศจิกายน ติดลบ 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเทียบกับเดือนตุลาคมที่เม็ดเงินติดลบ 9% ถือว่าเงินสะพัดลดลงในอัตราเพิ่มขึ้น เพราะช่วงปลายปีเป็นช่วงที่แบรนด์เบรกการใช้จ่าย ไม่ลงโฆษณากันอยู่แล้ว สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่ช่องใหญ่ต้องนำละคร รายการเก่าๆมา Re-run ในช่วงนาทีทองหรือ Prim time เพื่อประหยัดต้นทุน สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าในการลงทุน(ROI) นำละครใหม่มาออนแอร์ แต่โฆษณาไม่เข้า จะไม่คุ้มทุนเสียเปล่าๆ
อย่างไรก็ตาม หากแยกปประเภทของสื่อ พบว่าทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 61% หรือมูลค่า 57,209 ล้านบาท ติดลบ 11% ตามด้วย “อินเตอร์เน็ต” มูลค่า 17,799 ล้านบาท ที่ฉายเดี่ยวเติบโตบวกเพียง 1% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 9,889 ล้านบาท ติดลบ 19% สื่อในโรงภาพยนตร์ 3,650 ล้านบาท ติดลบ 53% หนักสุดเมื่อเทียบกับทุกสื่อ สื่อสิ่งพิมพ์ 3,462 ล้านบาท ติดลบ 34% วิทยุ 3,280 ล้านบาท ติดลบ 24% และสื่อในห้าง 597 ล้านบาท ติดลบ 38%
สำหรับสินค้าที่ใช้จ่ายเงินในการซื้อสื่อโฆษณาตั้งแต่มกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2563 เป็นดังนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 13,765 ล้านบาท โดยใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มูลค่า 15,065 ล้านบาท ติดลบ 10%, กลุ่ม Media & Marketing มูลค่า 11,226 ล้านบาท ติดลบ 8% และกลุ่มยานยนต์ (Automotive) มูลค่า 5,692 ล้านบาท ติดลบ 35%
ในส่วนของบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดของเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2020 โดย 3 ลำดับแรกได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มูลค่า 4,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาคือ ใหม่ วาสลีน ซุปเปอร์ วิตามิน ทางสื่อทีวีมูลค่า 41 ล้านบาท รองลงมาคือบรีส เอกเซล แอคทีฟเฟรช ทางสื่อทีวีมูลค่า 32 ล้านบาท
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มูลค่า 2,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาคือ เนสกาแฟ เบลนด์แอนด์บรู หอม เข้ม นุ่ม ลงตัว ทางสื่อทีวีมูลค่า 44 ล้านบาท รองลงมาคือ เนสกาแฟ เอสเปรสโซ โรสต์ ทางสื่อทีวีมูลค่า 32 ล้านบาท
บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) หรือ พีแอนด์จี ใช้จ่ายเงินโฆษณามูลค่า 2,113 ล้านบาท ซึ่งลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ ใหม่ แพนทีนสูตรโปรวิตามิน ลดการขาดลดร่วง ทางสื่อทีวีมูลค่า 23 ล้านบาท รองลงมาคือใหม่ ดาวน์นี่ หอมกลิ่นติดทนยาวนานยิ่งกว่าสูตรธรรมดา ทางสื่อทีวีมูลค่า 20 ล้านบาท
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : bangkokbiznews.com