9 เทรนด์มาแรง ปี 2564 ขายแบบไหน ถึงจะได้ ถึงจะโดน
ปี 2563 นับเป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงรุนแรงที่สุดในภาคธุรกิจ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และหลายเรื่องมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2564
เว็บไซต์ brandminds รวบรวม 9 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ในปี 2563-2564 ที่น่าสนใจ เริ่มจาก
- Shopstreaming ที่ผสมระหว่างการไลฟ์สด (Livestreaming) บวกกับการช็อปปิ้ง (Shopping) ตัวอย่างของเทรนด์นี้ คือ “วิย่า” นักขายตัวแม่ชาวจีน ที่โด่งดังจากการไลฟ์สดขายสินค้าทุกอย่างบนโลกใบนี้ ตั้งแต่เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ บ้าน ไปจนถึงจรวด วิย่า มียอดผู้ชมไลฟ์มากกว่า 37 ล้านคน โดยเธอผสมผสานการไลฟ์สด การใช้สื่อโซเชียล การขาย และการเป็นอินฟลูเอนเซอร์เข้าด้วยกัน จนสามารถทำยอดขายได้หลายล้านดอลลาร์ในแต่ละวันที่ไลฟ์สด
- ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ทุกวันนี้ราว 76% ของประชากรโลกอาศัยในชุมชนเมือง จึงต้องการเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารมากขึ้น และการระบาดของไวรัสยิ่งทำให้เทรนด์นี้ชัดขึ้น ผู้คนจึงหันมาทำฟาร์มในคอนโดฯ และบ้านมากขึ้น สตาร์ตอัพสัญชาติฝรั่งเศส “Agricool” ผุดไอเดียธุรกิจจากการปลูกผักและสตรอว์เบอร์รี่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่มีพื้นที่เพียง 30 ตารางเมตร และขายให้ร้านค้าในรัศมี 15 กิโลเมตร เพื่อลดภาระเรื่องพื้นที่เพาะปลูกและระยะทางการขนส่ง
- พบแพทย์ออนไลน์ ทั่วโลกยังต้องต่อสู้กับโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพบแพทย์แบบตัวเป็นๆ เพื่อลดความเสี่ยง สตาร์ตอัพหลายแห่งหันมาพัฒนาเรื่องนี้ เช่น Vocalis Health ที่คิดค้นระบบเสียงในการมอนิเตอร์สุขภาพจากระยะไกล และเทรนด์นี้จะสำคัญมากขึ้นในอนาคต
- ออกแบบบ้านตอบโจทย์สุขภาพ ที่ผ่านมา การออกแบบและก่อสร้างอาคารไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของคนมากนัก ทำให้เกิดการเจ็บป่วยจาก “โรคตึกเป็นพิษ” ที่เชื่อมโยงกับสาเหตุต่างๆ เช่น ระบายอากาศไม่เพียงพอ การปนเปื้อนสารเคมี มลภาวะทางเสียง ไฟไม่สว่างพอ และเชื้อรา แต่ระยะหลังมีการใช้มาตรฐานการก่อสร้างที่เรียกว่า WELL Building Standard ซึ่งคำนึงถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- มนุษย์คือความพรีเมี่ยม แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นมาก ยกตัวอย่าง ระบบสั่งการด้วยเสียงที่สามารถเปิด-ปิดไฟและช็อปปิ้งได้ผ่านการพูด แต่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลับโหยหาการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะลูกค้ารายได้สูง เพราะมนุษย์เข้าใจกันมากกว่าแชตบอตที่ไร้ชีวิต และหลายแบรนด์นำเสนอบริการที่ใช้มนุษย์ในฐานะบริการพรีเมี่ยม
- สื่อนอกบ้านบูม แบรนด์ต่างๆ นิยมใช้สื่อโฆษณานอกบ้าน (Out Of home-OOH) อาทิ จอโฆษณาบนตึก สื่อดิจิทัลในรถไฟฟ้า เพราะเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกเวลา และมีการจดจำมากกว่าสื่อออนไลน์
- “รถ” เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว เพราะผู้คนใช้ชีวิตในรถวันละหลายชั่วโมง สิ่งที่ทำได้ขณะอยู่หลังพวงมาลัยก็มีไม่กี่อย่าง เช่น ฟังเพลง หรือคิดเรื่องต่างๆ หากต้องการทำมากกว่านั้น ไม่ว่าจะสั่งอาหาร หรือซื้อสินค้า รถบางรุ่นก็ช่วยได้ แค่ติดตั้งระบบสั่งการด้วยเสียง และกระเป๋าเงินดิจิทัล
- วัฒนธรรมการแบนของผู้บริโภค มีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะแสดงออกเพื่อตอบโต้แบรนด์มากขึ้น หากรู้สึกถึงความไม่ถูกต้อง เช่น ขาดธรรมาภิบาล ไม่มีจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อม มีปัญหาคุกคามทางเพศในองค์กร ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพสินค้าและบริการอีกต่อไป
- ผู้บริโภคเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แม้ว่าผู้บริโภคจะต้องมอบข้อมูลส่วนตัวให้แบรนด์ เพื่อแลกกับความสะดวกและการใช้งานเฉพาะบุคคล แต่ผู้บริโภคก็ต้องการควบคุมการนำข้อมูลของพวกเขาไปใช้ด้วย
ที่มาภาพ
https://www.gotokyo.org/en/plan/duty-free-shopping/index.html
https://uxplanet.org/future-for-retail-11-11-a2ee4e585eac
https://twitter.com/JeffreyTowson/status/1193564898707402752/photo/4
https://www.facebook.com/agricool.co
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : sentangsedtee
Categories:OHM-Movement