ย้อนไปดูตำนานป้ายโฆษณาบิลบอร์ด จากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเปรู ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ สามารถผลิตน้ำสะอาดให้ผู้คนได้ และเป็นป้ายโฆษณาเชิญชวนให้คนมา เรียนที่มหาวิทยาลัย ในเวลาเดียวกัน
จะมีใครคิดว่าพื้นที่แห้งแล้ง จะสามารถเป็นสถานที่ชั้นยอดในการทำตลาดและโฆษณาของมหาวิทยาลัยที่ต้องการดึงดูดนักศึกษาใหม่ในเปรูได้ โดยในอดีต เคยมีเหตุการณ์ที่เป็นที่พูดถึงทั่วโลก โดย เมื่อปี 2013 มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเปรู (University of Engineering and Technology) หรือ UTEC ตั้งอยู่ที่เมืองลิม่า ประเทศเปรู ใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ด้วยการสร้าง ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ที่สามารถดักจับไอน้ำในอากาศ เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำสะอาดได้ถึงวันละ 100 ลิตรต่อวัน เรียกได้ว่า ทำโฆษณาเชิญชวนให้คนมาเรียนกันด้วย เทคโนโลยีแบบล้ำๆ แถมได้ประโยชน์ในคราวเดียวกันไปเลย
.
โดย เรื่องราวของตำนานป้ายโฆษณา ป้ายบิลบอร์ดป้ายนี้ เกิดขึ้นในปี 2013 ซึ่งทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเปรู หรือ UTEC จึงได้คิดค้นป้ายโฆษณาบิลบอร์ด ที่ติดอุปกรณ์ดักจับไอน้ำในอากาศ เพื่อผลิตเป็นน้ำสะอาด ภายใต้ชื่อโครงการ “Mayo Draft FC Band”
โดยป้ายบิลบอร์ดผลิตน้ำสะอาดป้ายนี้ มีการติดตั้งระบบกรองน้ำแบบรีเวิร์ส ออสโมซิส ซึ่งเป็นวิธีกรองน้ำที่นิยมใช้กันทั่วไป กรองตะกอนที่มากับไอน้ำจากเครื่องดักไอน้ำ ก่อนส่งต่อไปยังแท็งค์น้ำขนาด 20 ลิตร และสามารถผลิตน้ำสะอาดได้สูงสุดถึง 100 ลิตรต่อวัน
.
ปัจจุบัน แหล่งน้ำสะอาดหลักของเปรู มาจากน้ำแข็งที่ละลายตัวบนยอดเขาแอนดิส ซึ่งอัตราการละลายตัวของน้ำแข็งที่ผิดปกติบนเทือกเขาแอนดิส ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ทำให้ปริมาณน้ำสะอาดที่ใช้อุปโภค บริโภคในเปรู ลดลงจากเดิมถึงร้อยละ 30 ซึ่งหากอัตราการละลายตัวของน้ำแข็งยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้ชาวเปรูต้องหันไปหาน้ำสะอาดจากแหล่งอื่นมาใช้แทน
.
ดังนั้น ป้ายบิลบอร์ดผลิตน้ำสะอาด ป้ายนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งทางออก และเป็นอีกหนึ่งคำตอบให้กับเรื่องปัญหาแหล่งน้ำสะอาดขาดแคลน ที่เริ่มมีจำนวนจำกัดในเปรู
ทีมวิศวกรของโครงการ ยังมีแผนที่จะต่อยอด ด้วยการผลิตป้ายบิลบอร์ดผลิตน้ำสะอาดให้กับพื้นที่ประสบภัยแล้งในหลายๆ ประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติหรือ UN ได้ยกย่องนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ในอนาคตอีกด้วย
.
แม้ภูมิประเทศเปรู จะแห้งแล้ง แต่กลุ่มนักคิดสร้างสรรค์ ไม่เคยแล้งน้ำใจ ยิ่งได้ไอเดียดี บวก เทคโนโลยี…ปัญหาอะไรก็แก้ไขและเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : springnews.co.th