“เมื่อไหร่กรุงเทพฯ จะมีรถเมล์ใหม่สักที”
คือคำถามยอดฮิตของคนกรุงตลอดหลายปีที่ผ่านมา
และในเวลาเดียวกันก็มีข่าวคราวจากเพื่อนบ้านอาเซียนที่เปิดตัวรถเมล์ใหม่เรื่อยๆ ทั้ง พนมเปญ ย่างกุ้ง สิงคโปร์ ปีนัง หรือฮานอย เห็นรถเมล์ใหม่ๆ ของเหล่าเพื่อนบ้านก็อย่าเพิ่งน้อยใจไป เพราะกรุงเทพฯ ก็มีรถเมล์ใหม่แกะกล่องอย่าง ‘รถเมล์ไฟฟ้า’ กับเขาเหมือนกัน โดยเจ้ารถเมล์ไฟฟ้าได้เริ่มออกวิ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ในนาม ‘ไทยสมายล์บัส’ บริษัทเอกชนเจ้าใหม่แห่งวงการขนส่งสาธารณะไทย (ชื่อฟังดูคุ้นเหมือนสายการบิน แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับไทยสมายล์แอร์เวย์)
รถเมล์ไฟฟ้ามาใหม่ดียังไงบ้าง?
1. ทางขึ้นที่สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากประตูที่ไม่มีบันไดสูงอีกต่อไป นี่คือรถเมล์ที่ทำให้คนทุกวัยขึ้นลงรถได้สะดวก สิ่งแรกที่อาจต้องรู้ก่อนขึ้นรถเมล์ไฟฟ้าคันนี้ก็คือ กติกาที่รณรงค์ให้ผู้ใช้งาน ‘ขึ้นรถประตูหน้า-ลงรถประตูหลัง’ ถือเป็นการเปลี่ยนประสบการณ์ผู้ใช้งานรถเมล์กรุงเทพฯ ให้เป็นระบบเดียวกับรถเมล์หลายๆ เมืองในต่างประเทศ ส่วนใครที่เคยใช้งานรถเมล์ ปอ.พ. ของ Metro Bus ช่วงปี 2550 – 2557 ก็น่าจะคุ้นกับระบบนี้มาบ้างแล้ว
รถเมล์ไฟฟ้าของไทยสมายล์เลือกใช้วิธีการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ (Hand temperature scanner) ไว้ข้างห้องคนขับ เมื่อก้าวขึ้นรถไป ทุกคนต้องสแกนวัดอุณหภูมิก่อนเป็นอันดับแรก ไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานรถสาธารณะท่ามกลางวิกฤต COVID-19 หรือเป็นกุศโลบายให้ต้องขึ้นประตูหน้า-ลงประตูหลังไปในตัว แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ดีทีเดียว
2. รถเมล์ที่เงียบขึ้นและมีแสงสว่างมากขึ้น
เสียงรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งผ่านเงียบมาก และแน่นอนเงียบกว่ารถเมล์ที่เราๆ คุ้นเคย เมื่อก้าวเข้าไปภายในห้องโดยสาร นอกจากบรรยากาศที่ดูโปร่งในตอนกลางวันและมี แสงไฟ สว่างกว่ารถเมล์รุ่นก่อนที่ให้บริการในตอนกลางคืน เสียงเครื่องยนต์ ที่เงียบกว่ารถเมล์รุ่นไหนๆ ยังช่วยให้บรรยากาศเป็นมิตรกับทุกคนบนรถมากขึ้น ส่วน ที่นั่ง บริเวณเบาะคู่ มีที่จับติดตั้งอยู่ด้านข้างช่วยกันการพลัดตก พื้นที่วางขา (Legroom) ก็กว้างพอให้คนตัวสูงนั่งได้ไม่อึดอัด เมื่อเงยหน้าขึ้นไปจะเห็นว่า ช่องแอร์ ของรถรุ่นนี้ดีไซน์ต่างกับรถเมล์รุ่นอื่นตรงที่มีฟังก์ชันเลื่อนเปิด-ปิด เลือกระดับความเย็นได้ตามใจชอบ จะเปิดรับความเย็นเน้นๆ รับลมแบบคนละครึ่ง หรือปิดไปเลยก็ได้
3. ชาร์จแบตฯ มือถือได้ และจ่ายเงินง่ายขึ้น
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของรถรุ่นนี้คือเป็นรถเมล์รุ่นแรกในกรุงเทพฯ ที่มี จุดชาร์จ (USB Charger) ผู้โดยสารสามารถนำสายชาร์จโทรศัพท์แบบ USB-A มาเสียบใช้งานกับจุดชาร์จที่มีอยู่ทุกเสาได้ ส่วนการจ่ายค่าโดยสารนอกจากเงินสด ยังมีตัวเลือกอย่าง สแกนจ่ายได้ด้วย QR Code ใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพิ่มเข้ามา ไม่เพียงแค่นี้ ในอนาคตไทยสมายล์ยังวางแผนจะออก บัตรโดยสาร และ แอปพลิเคชันที่เช็กตำแหน่งรถ เป็นของตัวเอง ซึ่งหากใช้ได้จริงจะเป็นผู้ประกอบการเดินรถเมล์กรุงเทพฯ ที่ทำแอปฯ Bus Tracker สำเร็จเป็นรายแรก โดยปัจจุบันได้ปล่อยเวอร์ชันแรกออกมาให้ดาวน์โหลดแล้ว แต่ยังใช้ยากอยู่พอสมควร
รถเมล์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนชีวิตคนกรุงแค่ไหน?
แม้กรุงเทพฯ จะไม่ใช่จังหวัดแรกของไทยที่มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการ แต่การขยายตัวของรถเมล์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ก็เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ภายในระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการแล้ว 8 เส้นทาง ได้แก่ สาย 35, 7, 4-21(120), 6, 39, 56, 80, 133 (เรียงตามลำดับการเปิดตัว) โดยมีแผนจะเพิ่มทั้งจำนวนรถ และเปิดเส้นทางสายใหม่ๆ อีกในอนาคต
การเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า ที่ถูกออกแบบให้ประตูไม่มีบันไดและมีทางลาด (Ramp) ช่วยให้ผู้ใช้รถเข็นเดินทางด้วยรถสาธารณะได้ง่ายขึ้น – เครื่องยนต์ที่ช่วยลดมลพิษและฝุ่นควัน ส่งผลดีต่อสุขภาพกายของคนในเมือง ส่วนเรื่องสุขภาพใจ สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนที่สุดคือเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบขึ้น จากเดิมที่เสียงเครื่องยนต์รถเมล์รุ่นเก่าๆ ได้ยินไปถึงบนตึก 3-4 ชั้น – ในส่วนของพนักงานประจำรถ นอกจากไม่ต้องทนกับเขม่าน้ำมันหรือเสียงเครื่องดังๆ ทั้งวัน ยังเพิ่มประตูกั้นห้องคนขับเพิ่มความอุ่นใจให้พนักงานท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดแบบนี้อีกด้วย
น่าเสียดายที่รถเมล์ไฟฟ้ารุ่นแรกของกรุงเทพฯ เป็นของเอกชนทั้งหมด ต่อให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เข้าไปแทนที่รถเมล์ ครีม-แดง ของรัฐ (ขสมก.) จำนวนกว่า 1,500 คันที่วิ่งมาเข้าปีที่ 31 ปีได้ ซึ่งมาตรฐานไอเสียต่ำกว่า Euro 1 (ปัจจุบันยุโรปไปถึงมาตรฐาน Euro 7 กันแล้ว) ทุกวัน เดือน ปี ที่รัฐยังหารถเมล์ใหม่มาทดแทนไม่ได้ ก็เหมือนใช้คุณภาพชีวิตคนในเมืองเป็นตัวประกัน ต้องสูดดมควันพิษทำลายสุขภาพแบบผ่อนส่ง ถ้าความเท่าเทียมมีอยู่จริงอย่างที่มีคนได้พูดไว้ ‘ขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้’ จะเป็นหนึ่งในระบบพื้นฐานของเมืองที่ทำให้ทุกคนมีต้นทุนชีวิตที่ดีขึ้น แน่นอนผมเชื่อว่า ทั้งคนกรุงเทพฯ หรือไม่ว่าคนในจังหวัดไหนของประเทศไทยต่างก็รอคอยสิ่งนี้อยู่…
หลังได้ขึ้นสาย 35 รถเมล์ไฟฟ้าสายแรกในกรุงเทพฯ ก็สัมผัสถึงความเป็นขนส่งสาธารณะที่เงียบมากที่สุดในเมือง (ทั้งเสียงเครื่องยนต์และข่าวเปิดตัว) เงียบผิดกับเสียงรถเมล์กรุงเทพฯ ที่ทุกคนคุ้นเคยแน่ๆ แม้แรกๆ จำนวนรถที่ให้บริการในเส้นทางสาย 35 ยังมีไม่มาก จนครั้งหนึ่งเคยต้องรอรถถึงสองชั่วโมง! แต่พอช่วงหลังปีใหม่ผ่านมาถือว่าดีขึ้น รอสั้นที่สุดคือสิบนาทีนิดๆ เฉลี่ยอยู่ที่ยี่สิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมง ส่วนสายอื่นอย่าง 6, 7, 56 แม้เปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้าแล้วความถี่จะไม่มากเท่าเก่าแต่ก็พอรอได้ เว้นแต่สายที่ยังเข้าขั้นอันตรายในการรอคือสาย 4-21(120) ในใจก็หวังว่าปี 2565 นี้ เราจะมีรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่มให้เส้นทางเดิมมีรถหมุนเวียนพอ รอไม่นาน ก่อนจะไปเพิ่มเติมเส้นทางใหม่ๆ ต่อไป
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ใครที่สนใจอยากลองนั่งรถเมล์ไฟฟ้ารุ่นแรกของกรุงเทพฯ อ่านรายละเอียดเส้นทางแต่ละสายได้ที่ท้ายบทความนะครับ
รายละเอียดเส้นทางรถเมล์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ปี 2564
สาย 6 ท่าเรือพระประแดง-บางลำพู
ผ่าน แจงร้อน ราษฎร์บูรณะ ไอคอนสยาม พาหุรัด
สาย 7 ศึกษานารีวิทยา-สถานีหัวลำโพง
ผ่าน ถ.บางบอน 3 บางแค วงเวียนใหญ่ เยาวราช
สาย 35 วัดสน-สายใต้ตลิ่งชัน
ผ่าน ถ.พระรามที่ 3 สาธุฯ จันทน์ บางรัก เสาชิงช้า
สาย 39 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ผ่าน ฟิวเจอร์พาร์ค สะพานใหม่ เกษตรฯ จตุจักร
สาย 56 (วงกลม) สะพานกรุงธน-บางลำพู
ผ่าน ม.สวนดุสิต ประตูผี พาหุรัด อิสรภาพ จรัญฯ
สาย 80 หนองแขม-สนามหลวง
ผ่าน บางแค ท่าพระ จรัญสนิทวงศ์ พาต้าปิ่นเกล้า
สาย 133 เคหะบางพลี-BTS เอกมัย
ผ่าน เมกาบางนา ซีคอนสแควร์ พัฒนาการ ปรีดีฯ
สาย 4-21 สมุทรสาคร-บ้านแขก
(ไม่เกี่ยวอะไรกับรถสาย 4 แต่คือ สาย 120 เดิม)
ผ่าน บางบอน ดาวคะนอง สินสาธร ไอคอนสยาม
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : urbancreature.co